โต้เดือด ปมโครงการจำนำข้าว นายก-ยิ่งลักษณ์

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 65 เวลา 14.40 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีที่มีการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายลงทุนปี 2566 มีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ว่า งบประมาณที่รัฐบาลจัดตั้งมาทั้งหมดจำนวน 3,185,000 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุนจำนวน 695,077.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายกำหนด รวมทั้งภาครัฐยังมีการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) วงเงินประมาณ 98,929 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนที่มาจากเงินงบประมาณแล้ว จะเห็นได้ว่าในปี 2566 รัฐมีเม็ดเงินเพื่อใช้จ่ายในการลงทุนของประเทศประมาณ 7,940,006 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 24.9 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง โครงการสร้างทางรถไฟเด่นชัย – เชียงของ โครงการสร้างทางรถไฟบ้านไผ่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร นครพนม รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม โครงการรถไฟไทย – จีน ระบบรถไฟชานเมือง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงที่ 2 ช่วงบางใหญ่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณด้านการเกษตร รัฐบาลได้ดำเนินการเพิ่มเติมหลายอย่าง ทั้งการปรับปรุงภาคการเกษตร นอกเหนือจากการประกันราคาข้าว โดยการลดต้นทุนการผลิต รวมเกษตรแปลงใหญ่ เสริมเทคโนโลยี ขอย้ำว่ารัฐบาลยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร โดยวันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนโยบายเศรษฐกิจ BCG ในภาคการเกษตรและอาหาร พัฒนาต่อยอดธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรกรคุณภาพสูง ในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและแปรรูปอาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การค้าออนไลน์ต่าง ๆ เหล่านี้ สร้าง Smart Farmer ระดมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ใช้ Big Data ด้านการเกษตร ใช้ Agri-Map สร้างแพลตฟอร์มสนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ จัดหาผู้ว่าจ้างเครื่องจักรกลการเกษตร การเช่า ไม่ต้องซื้อ ต่อยอดขยายตลาดไปสู่ตลาดออนไลน์ โดยเราต้องให้เบ็ดตกปลาและให้ปลาไปด้วย เพื่อให้เขาอยู่ได้ อยู่รอด ปลอดภัย และเข้มแข็งยั่งยืนขึ้น รัฐบาลทำทุกอย่างประชาสัมพันธ์ทุกวัน แต่กลับพูดถึงแต่เรื่องเดิมซ้ำ ๆ
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลมีการจัดลำดับความสำคัญของวงเงินรายจ่ายประจำปี 2566 โดยมีข้อมูลของทุกจังหวัด ทุก Sector ใน Big Data มีข้อมูลว่าใครขาดใครเสียอะไร รัฐบาลดูแลให้ทุกที่ ซึ่งตรงไหนที่เร่งด่วนกว่าก็ต้องดำเนินการก่อน ส่วนที่ยังไม่เร่งด่วนก็ต้องคอยก่อน ส่วนที่บอกว่ายังไม่ได้เนื่องจากโครงการนั้นยังไม่มีความเร่งด่วน ส่วนงบกลางที่ตั้งไว้ นอกจากสำหรับใช้ในเรื่องฉุกเฉินแล้ว ยังใช้เพื่อเติมงบประมาณให้กับจังหวัด กลุ่มจังหวัด บูรณาการในกรณีที่ขาดเหลือไม่เพียงพอสำหรับโครงการสำคัญ และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของโรคติดเชื้อ โดยสนับสนุนงบประมาณไปกว่า 397,000 ล้านบาท ในด้านการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ในขณะนั้นล้มไปแล้วเนื่องจากไม่มีคนไปเที่ยว ไม่มีคนไปใช้บริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ อยู่รอดได้ สร้างมูลค่าในวันนี้ทำให้มีความเข้มแข็งขึ้น และขณะนี้รัฐบาลกำลังจัดหางบประมาณที่จะให้นำไปปรับปรุงที่พัก ที่บริการที่ทรุดโทรม ชำรุด ไม่มีลูกค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาส่วนนี้ให้ได้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาปริมาณมากขึ้นในช่วงนี้ให้ทันต่อเวลา ยืนยันว่ารัฐบาลทำทุกอย่าง


 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการจัดทำงบประมาณขาดดุลโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายมีความจำเป็น เพราะรายได้สุทธิมาจากการจัดเก็บภาษี โดยเป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนแต่ละกลุ่มอาชีพที่มีรายได้แตกต่างกัน และเก็บจำนวนที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐบาล เพื่อนำมาใช้ดูแลผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันยังได้เดินหน้าโครงการอื่น ๆ เช่น โครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งการดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องใช้เวลา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับประเทศ ส่วนในเรื่องเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ หนี้ต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ชี้แจงไปหลายครั้งแล้วก็กลับมาเหมือนเดิมทุกประการ เป็นบรรยากาศที่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะอภิปรายอะไรก็เหมือนเดิม เพราะว่าถูกฝังชิพไปหมดแล้ว ทั้งนี้ หลายเรื่องที่ฝ่ายค้านพูดมาไม่ใช่ข้อเท็จจริง ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลข้าราชการที่ทำงาน ดูแลประชาชน ดูแลการประกันราคาข้าวที่ผ่านมาปีก่อนหน้า 6 หมื่นล้านบาท ปีต่อมา 8 หมื่นล้านบาท และปี 65 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท โดยนายกฯ ไม่ขัดข้องถ้าจะต้องจ่ายเงินประกันราคาข้าว แต่ต้องหาวิธีอื่นให้เกษตรกรมีรายได้จากการเกษตรของเขาจริง ๆ ด้วยการพัฒนา Smart Farmer ใช้เทคโนโลยี ใช้เครื่องจักรลดต้นทุนการผลิต
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องเหมืองโปแตสว่า เป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้ว นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่ง ส.ส. ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ต้องให้ประชาชนร่วมมือ เห็นชอบ เพื่อให้เดินหน้าได้ ถ้ามีผู้ประท้วงเหมืองโปแตส ส.ส. ต้องไปชี้แจงให้นายกรัฐมนตรี ขณะที่เรื่องพลังงาน ขอให้ไปดูว่าประเทศไทยมีหลุมน้ำมันกี่หลุม ต่างประเทศมีกี่หลุมและขุดน้ำมันได้กี่บาร์เรล คุณภาพดีกว่าของเราหรือไม่ แก๊สก็เช่นเดียวกัน ถ้าพูดแต่หลักการกว้าง ๆ ไม่มองในรายละเอียดเลยคนก็สับสนไปหมด ทำให้เกิดความยากในการบริหาร ในการที่จะทำให้ทุกคนร่วมมือกัน ซึ่ง ส.ส. เป็นผู้แทนประชาชน ไม่ใช่แต่ร้องทุกข์เรื่องเดือดร้อนอย่างเดียว ควรนำสิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ไปบอกให้ประชาชนรู้ด้วย ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐด้วย ทั้งนี้ นายกฯ รับฟังได้ทุกเรื่อง ถึงบางเรื่องซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่รู้สึกโกรธ   

และในระหว่างอิปราย นายกฯ ได้ระบุว่า การพัฒนาด้านการเกษตร ตนอดไม่ได้ หลายเรื่องมันพันกันอยู่ งบประมาณด้านการเกษตร สิ่งที่เราทำวันนี้ ทำเพื่ออนาคต นอกเหนือจากการประกันราคาสินค้าเกษตร 6 ชนิด เสริมเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรเข้มแข็งขึ้นไปด้วย หนักที่สุด คือ ข้าว การให้เงินเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว เมื่อเกษตรกรเดือดร้อนก็ต้องดูแล แต่ภาระก็จะมากขึ้นไปเรื่อยๆ รัฐบาลก็ต้องแก้ปัฐหาต่อไปอีก

“ถ้าท่านพูดว่า วันนี้งบประมาณในอดีตไม่ใช่อนาคต ผมก็ขอเรียนอีกครั้งว่า ตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมา โครงการจำนำข้าวขาดทุน 957,000 ล้านบาท รัฐบาลนี้ล่ะครับ ตั้งงบประมาณชำระหนี้ไปแล้ว 781,000 ล้านบาท คงเหลือเงินต้นและดอกเบี้ยอีก 3 แสนล้านบาท เงินตรงนี้ ถ้าอยู่ เอามาทำได้อีกเยอะ ใครทำไว้ ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะย้อนกลับ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ล่าสุด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค โต้กลับนายกฯ ระบุ “จากที่คุณประยุทธ์ชี้แจงในการอภิปรายงบประมาณปี 2566 และได้มีการพาดพิงรัฐบาลดิฉันว่าต้องใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าวไปแล้วกว่า 7 แสนล้านบาท รู้สึกได้ทันทีว่าเป็นคำกล่าวหาเดียวกันที่เคยใช้มาเมื่อหลายครั้ง ซึ่งดิฉันก็ได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ตามลิงค์นี้ค่ะ https://www.facebook.com/…/a.20100121…/4413336935377394/

ดิฉันจึงอยากขอฝากอะไรไว้ให้เป็นแง่คิดระหว่างพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีว่า แม้รัฐบาลดิฉันถูกโจมตีอย่างหนักว่า “สร้างหนี้” ทั้งๆ ที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่เพียง 45.91% แต่หลังรัฐประหารผ่านไป 8 ปี หนี้ได้พุ่งขึ้นไปที่ 60.58% โดยรัฐบาลคุณประยุทธ์จัดทำงบประมาณขาดดุลมากขึ้นๆ ทุกปี

หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีจำนวนสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลยังมีแผนการก่อหนี้ไปเรื่อยๆ อย่างไร้ยุทธศาสตร์ของการเพิ่มรายได้ ผิดหลักการที่ต้องใช้เงินกู้เพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และเมื่อขณะนี้ประชาชนไม่มีรายได้เพิ่ม หนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ไม่สามารถลดการขาดดุลงบประมาณลง

ดิฉันจึงขอตั้งคำถามไว้ว่าการที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายของรัฐบาลคุณประยุทธ์ เป็นเพราะโครงการรับจำนำข้าวหรือบริหารงานไม่เป็น หากมองย้อนกลับไปดิฉันก็ยังคงภูมิใจที่ได้บริหารประเทศภายใต้หลักการที่เพิ่มเงินในกระเป๋าให้พี่น้องประชาชน พร้อมกับสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น จนสามารถประกาศว่าจะทำงบประมาณให้สมดุลได้ใน ปี 2560 แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งและความหวังของประชาชนได้แม้แต่น้อยค่ะ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น