กลาโหมแจง ของบซื้อเครื่องบินรบ ทดแทนของเก่า

วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เครื่องบินขับไล่ F-35 ของกองทัพอากาศว่า ภารกิจสำคัญของกองทัพอากาศ คือการป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยเครื่องมือยุทโธปกรณ์ที่สำคัญคือเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นการโจมตี ซึ่งปัจจุบันมีหลายแบบแต่ขีดความสามารถมีจำกัด และประสิทธิภาพลดลง เพราะใช้ปฏิบัติภารกิจมายาวนาน เฉลี่ยใช้ปฏิบัติภารกิจมาแล้ว 28 ปี จำเป็นต้องทยอยปลดประจำการ เพราะซ่อมบำรุงไม่คุ้มค่า ดังนั้นจำเป็นต้องจัดหามาทดแทน เพราะหากใช้งานต่อไปอาจมีความเสี่ยงต่อการป้องกันประเทศ

รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล

พร้อมยืนยันไม่ใช่ว่าต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีแล้วจะสามารถจัดหาได้ทันที ต้องดำเนินการอย่างน้อย 3 ปี จึงได้เครื่องบินดังกล่าวมา อีกทั้งต้องฝึกนักบินไว้สำหรับปฏิบัติภารกิจอีก 1 ปี การดำเนินการจึงต้องทำเป็นระยะตามกรอบงบประมาณที่มีอยู่ ส่วนกรณีที่สมาชิกอภิปรายว่า จัดสรรงบประมาณ 13,800 ล้านบาท นั้น ที่จริงแล้วใช้งบประมาณในภาพรวมเพียง 7,382 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2566 จะใช้ขั้นต้นเพียง 738 ล้านบาท โดยมีการจัดทำสมุดปกขาว และวางแผนทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อธำรงความสามารถในการปฏิบัติภารกิจให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อความปลอดภัยของนักบิน

ทั้งนี้ย้ำว่ากองทัพอากาศ วางแผนตามงบประมาณที่มี และให้สอดคล้องกับภารกิจในการปกป้องประเทศและน่านฟ้าให้ปลอดภัย ส่วนประเด็นอื่นๆ หากสมาชิกมีข้อสังเหตุเรื่องงบประมาณใดๆในส่วนของกองทัพจะชี้แจงในลำดับต่อไป

“เครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมากนั้น นอกจากประสิทธิภาพจะลดลงแล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องของความปลอดภัยของนักบิน ซึ่งกว่าจะฝึกนักบินและปฏิบัติการทางยุทธวิธีได้สำหรับเครื่องบินสกัดกั้นโจมตีนั้นต้องใช้เวลาในการฝึกนักบินถึงจะมีเทคนิค ถึงจะมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางยุทธวิธีได้ จึงขอเรียนว่ากองทัพอากาศได้วางแผนในการดำเนินการตามกรอบงบประมาณที่กองทัพอากาศมี จัดทำเป็นระยะเวลาไป เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนที่จะต้องปลดประจำการเพื่อดำรงขีดความสามารถของกองทัพอากาศในการที่จะปกป้องน่านฟ้าของประเทศเราให้ปลอดภัยตลอดไป” พลเอกชัยชาญ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น