ผู้ว่าฯ ลำปาง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้จนฯ

ผู้ว่าฯ ลำปาง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้จนฯ อย่างยั่งยืนในเขตท้องที่ อ.เมือง

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชน ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน “ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นางธิติพร จินดาหลวง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง และตัวแทนคณะผู้บริหาร นักวิชาการ หัวหน้าหน่วยงาน คณะทำงานระดับพื้นที่จาก 7 องค์กรภาคีเครือข่ายในจังหวัดลำปาง ร่วมเดินทางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการ “พัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ” ของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเมืองลำปาง” ซึ่งทางอำเภอได้มีการดำเนินงานนำร่องขับเคลื่อนโครงการขจัดความยากจนฯ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลขึ้น โดยได้ริเริ่มดำเนินงานตั้งศูนย์เรียนรู้อยู่ในบริเวณพื้นที่สาธิตต้นแบบ เนื้อที่ 13 ไร่ ของนางกัญจ์วิภา ปิงวัง ในเขตชุมชนบ้านหนองร่อง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง โดยการลงพื้นที่มีนายเกษม ใจจันทร์ ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอเมืองลำปาง ได้เป็นตัวแทนนำกลุ่มเครือข่ายชุมชนบ้านหนองร่อง และชุมชนในเขตท้องที่ใกล้เคียงที่เข้าร่วมโครงการฯ มาให้การต้อนรับคณะพร้อมกับร่วมนำเสนอ สรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมด้านต่างๆ ตามแนวทางบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง

ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการดังกล่าว ทางจังหวัดลำปางได้กำหนดให้ทุกเขตท้องที่ทุกอำเภอต้องมีการดำเนินการ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ เป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะให้การพัฒนานำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งในการดำเนินงานทางอำเภอเมืองลำปาง ได้มีการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และศาสนา เพื่อจะได้ส่งต่อความช่วยเหลือไปยังประชาชนกลุ่มเปราะบางคนยากจนและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้ร่วมกันทำงานสร้าง “โมเดลแก้จน” พัฒนากระบวนการกสิกรรมชุมชน สู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยมิติศักยภาพด้านฐานทุนที่จะก่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบองค์รวมทั้งระบบ ครอบคลุมใน 4 มิติ ทั้งมิติด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา และด้านรายได้

โดยพื้นที่ดำเนินการต้นแบบนี้ อำเภอเมืองลำปาง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาใช้ในการขุดปรับพื้นที่ตามแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล และจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการและการตลาดให้แก่กลุ่มเกษตรกรในชุมชน รวมถึงเป็นศูนย์บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของแต่ละชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนให้บริการทางการเกษตรเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางวิชาการ เพื่อมุ่งเน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตทั้งระบบ โดยปัจจุบันที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง แห่งนี้ได้มีการดำเนินงานเป็นระบบเครือข่าย สร้างตลาด มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างอาคารให้เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตมีระบบบรรจุภัณฑ์และจำหน่าย อีกทั้งยังมีศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำการเกษตรสมัยใหม่ “เกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ” ทำน้อยได้มาก เพื่อพัฒนาสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนการบริหารจัดการพื้นที่กว่า 13 ไร่ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ยังทำให้ชุมชนมีแหล่งกักเก็บน้ำช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรช่วงหน้าแล้ง ได้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตตำบลบ้านเป้า อีกกว่า 1,200 ไร่

ร่วมแสดงความคิดเห็น