แพทย์ทหารเตือนภัย “ระวังไข้เลือดออก คาดการณ์มีผู้ป่วยเพิ่ม”

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้เฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วย จำนวน 1,952 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด-4 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูง 5 จังหวัดแรก คือ แม่ฮ่องสอน ระนอง ตาก นครปฐม และราชบุรี ตามลำดับ แม้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงต้นปี 2565 จะมีตัวเลขน้อยกว่าปี 2564 แต่ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลับพบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมาจะมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ประกอบกับเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่างๆ ทำให้มีการรวมตัวของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ โดยขอแนะนำให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน, ที่พักและชุมชนทุกแห่ง โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ได้แก่ เก็บบ้าน, ที่พัก และชุมชน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน, ที่พัก และชุมชน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และจัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในที่ต่างๆ เช่น กิจกรรม BIG CLEANING DAY รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดด้วย

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคภัยดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อมีอาการไข้สูงลอย ให้รับประทานยาลดไข้ หากทานแล้วไข้ไม่ลด หรือไข้ลดแล้วกลับมาสูงอีก ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคไข้เลือดออก และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน นอกจากนี้ หากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย อาจป่วยร่วมกันระหว่างโรคไข้เลือดออก กับโรคโควิด-19 จะทำให้มีอาการทรุดหนักได้อย่างรวดเร็ว และหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ดังกล่าว ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
3 มิถุนายน 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น