บ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติ แถลงผลงาน ครบรอบ 50 ปี

B-1.jpgมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติเชียงใหม่ จัดประชุมเนื่องในโอกาสแถลงผลงาน ครบรอบ 50 ปี “บ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติ’ โดยมีคุณหญิงพรรณางค์ ปาณิกบุตร ประธานมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติเชียงใหม่ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่

คุณหญิงพรรณางค์ ปาณิกบุตร ประธานมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติเชียงใหม่ กล่าวว่า บ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติ เป็นบ้านเด็กกำพร้าแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งโดยกลุ่มสตรีอาสาสมัครนำโดยคุณหญิงพูนสมัย ชัยนาม ภริยาพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2507 ต่อมานายแพทย์ระเบียบ ฤกษ์เกษม ผุ้อำนวยการโรงพยาบาลสวนดอก หรือโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ในปัจจุบัน พบว่าทางโรงพยาบาลต้องรับเลี้ยงดูเด็กที่ถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาลจำนวนมาก เด็กเหล่านี้มิได้เจ็บป่วยตามความเป็นอยู่ควรจะมีที่อยู่แยกออกไป ไม่ควรอยู่รวมกับผุ้ป่วย

ประกอบกับคุณกิ่งแก้ว วิบุลสันติ มีความประสงค์จะบริจาคที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ บ้านไม้สักทอง 1 หลัง บริเวณที่ตั้งมูลนิธิฯในปัจจุบันและอาสาสมัครคนไทยและชาวต่างประเทศบริจาคร่วมอีก 11,400 บาท พร้อมเงินสด 300,000 บาท เพื่อเป็นทุนในการจัดตั้งมูลนิธิฯและในปี 2509 ได้จดทะเบียนโดยใช้ชื่อ “มูลนิธิเด็กกำพร้าอนาถานครเชียงใหม่” มีคุณหญิงมูนสมัย ชัยนาม เป็นประธาน คุณพิมพรรณ ฤกษ์เกษม เป็นเลขานุการและแม่ชีศรีนวล บุญโญรส เป็นผู้จัดการและคณะกรรมการบริหาร 24 คน เป็นผู้บริหารจัดการ คณะกรรมการบริการจะอยู่ในวาระ 4 ปีตามตราสารและเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติ เชียงใหม่ ในเวลาต่อมา

เมื่อปี พ.ศ. 2533 บ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติหลังเดิม ซึ่งเป็นบ้านไม้สักทอง ทั้งหลังถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมดในช่วงเวลากลางวัน ต้นเพลิงเกิดจากโรงงานทำไม้แกะสลักของร้านบานเย็น แต่เด็กๆปลอดภัย ความทราบถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านได้มีรับสั่งให้สร้างสถานสงเคราะห์ในที่เดิม ขอให้คณะกรรมการรณรงค์หาเงินบริจาคเพื่อสร้างอาคารหลังใหม่และพระองค์ท่านได้ทรงกรุณาบริจาคเงินจำนวนหนึ่งเป็นทุนเริ่มต้น พร้อมทั้งมีผู้มีจิตศรัธาบริจาคเงินก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อย ในปี พ.ศ. 2534 ย้ายเด็กๆและเจ้าหน้าที่กลับมาอยู่ที่เดิม เพื่อให้การบริหารงานของมูลนิธิฯ เป็นไปในแนวทางเดียวกันในการดูแลเด็ก คณะกรรมการได้มีมติร่วมกันว่า จะรับเลี้ยงดูเด็กๆเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลไม่เกิน 50 คน อายุตั้งแต่ 3 เดือน- 6 ปี หลังจากนั้นจะส่งคืนให้รัฐบาลเพื่อเลี้ยงดูต่อไป เด็กจะได้ไม่มีปัญา เรื่องการหาที่เรียนและการประกอบอาชีพ

ในปี 2538 มูลนิธิฯได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กกำพร้าในชุมชนฯ สาเหตุเกิดจากการระบาดของโรคเอดส์ มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบทำให้เด็กกำพร้าขาดผู้อุปการะ มูลนิธิฯ จึงได้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่พ่อ-แม่เสียชีวิต แต่เด็กยังอาศัยอยู่กับญาติ เป็น ปู ย่า ตา ยาย ที่มีอายุมากแล้วไม่มีอาชีพ ไม่สามารถรับภาระค่าเล่าเรียนในการศึกษา มูลนิธิฯจึงรับภาระค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียน ตามที่เด็กเหล่านี้จะมีความสามารถ เรียนจนถึงชั้นสูงสุด ซึ่งในปีหนึ่งใช้งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 200,000 – 300,000 บาท สำหรับเงินทุนจำนวนนี้ใช้เงินที่สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯได้พระราชทานไว้เมื่อไฟไหม้ เป็นทุนเริ่มต้นและมีผู้บริจาคสมทบเพิ่มเติม

ในปี พ.ศ. 2549 คุณไพบูลย์ วิบุลสันติ หลานชายของคุณกิ่งแก้ว วิบุลสันติบริจาคที่ดินที่อ.สันทรายเพื่อขยายพื้นที่ของมูลนิธิฯ ในขณะเดียวกันที่ดินที่ติดกับมูลนิธิฯในปัจจุบันได้ก่อสร้างอาคารหอประชุม สงวน-แจ่มจันทร์ วิบุลสันติได้ประกาศขาย คุณหญิงเจ้าระวิพันธุ์ สุจริตกุล ประธานมูลนิธิฯและคณะกรรมการสมัยนั้นมีความเห็นว่าจะซื้อที่ดินแปลงนี้เพื่อขยายพื้นที่ของมูลนิธิฯ คุณไพบูลย์ วิบุลสันติ ได้ทราบจึงมีจิตศรัธาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวในราคา 600,000 บาท และมอบให้มูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549 พร้อมชักชวนญาติๆร่วมบริจาคเงินสร้างอาคารหอประชุม สงวน-แจ่มจันทร์ วิบุลสันติ ในวงเงิน 3,100,000 บาท ให้มูลนิธิฯใช้เป็นที่ทำการในปัจจุบัน ส่วนการตกแต่งภายใน การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณมูลนิธิฯหลังเก่าและใหม่ให้สวยงามได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้เงินมูลนิธิฯวงเงิน 4 ล้านบาท

สำหรับอาคารที่พักอาศัยของแม่ชีมยุรี หมื่นอภัย ซึ่งเป็นผู้ดูแลอาคารหอประชุมสงวน-แจ่มจันทร์ วิยบุลสันติ ได้รับการสนับสนุนก่อสร้างอาคารจากคุณธนี พหลโยธิน วงเงิน 600,000 บาท

มูลนิธิฯมีพี่เลี้ยงที่ดูแลเด็ก เจ้าหน้าที่ธุรการ แม่บ้าน พนักงานปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ จำนวน 37 คน ซึ่งต้องใช้เงินค่าจ้าง ค่าตอบแทนปีละ 5-6 ล้านบาท เงินจำนวนดังกล่าวได้รับจากผู้มีจิตศรัทธาและชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมชมกิจกรรมของมูลนิธิฯ การปฏิบัติงานในการรับบริจาคเงิน สิ่งของ บุคคลที่สำคัญที่ช่วยเหลือมูลนิธิฯในการปฏิบัติหน้าที่ได้แก่ อาสาสมัคร ที่หมุนเวียนเข้ามาปฏิบัติงานโดยไม่มีวันหยุดและค่าจ้างแต่อย่างใด สำหรับบุคลากรที่สำคัญทางด้านการเงินของมูลนิธิฯให้งอกเงยเกิดดอกผลนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ตั้งแต่มูลนิธิฯจัดตั้งช่วยระยะเวลาปี 2509-2533 ได้แก่ คุณวรถวิล ฬีรหาชีวะ ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน คุณบุญทวี ตันตรานนท์

ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านกิ่งแก้ว วิบุลสันติ เชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการขอปฏิญาณ จะดูแล เลี้ยวงดูเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กถูกละเมิดสิทธิและถูกทำร้ายให้มีที่อยู่ที่ปลอดภัย มั่นคง ไม่เป็นภาระต่อสังคม และคงได้รับการสนับสนุนกิจกรรมให้ก้าวหน้าจากทุกท่าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น