การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมเพื่อจัดทำแนวทางการส่งเสริมองค์ความรู้

มนตรี ปิยากูล
มนตรี ปิยากูล

การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมเพื่อจัดทำแนวทางการส่งเสริมองค์ความรู้ และพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนในประเทศไทย ภายใต้โครงการค่าใช้จ่ายในการจัดทำแนวทางส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยที่ปรึกษาจะนำผลการประชุมมาพิจารณาจัดทำแนวทางส่งเสริมองค์ความรู้แหล่งน้ำพุร้อนในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เมืองสปาและเส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อนของประเทศไทย เป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านท่องเที่ยวของน้ำพุร้อนของประเทศไทย

นายมนตรี ปิยากูล การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานเปิดการประชุมจัดทำแนวทางการส่งเสริมองค์ความรู้ และพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ Medical Tourism ของประเทศไทยเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ เพราะมีศักยภาพ ในเรื่องการบริการทางการแพทย์ด้านบุคลากร และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขันอื่นๆ แต่ข้อได้เปรียบในแง่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทย คือ ประเทศไทยเป็นศูนย์การท่องเที่ยวหลักโดยมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ป่าไม้ ศิลปวัฒนธรรม อาหาร สถานบันเทิง และแหล่งช็อปปิ้ง ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี อันจะทำให้ชาวต่างชาติเดินทางมารักษาพยาบาลและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จนสร้างรายได้เข้าประเทศไทยมากมายในแต่ละปี

รวมทั้งจากการประชุมสัมมนาวิชาการระหว่างประเทศ เรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกให้เป็น Project Leader ในคณะทำงานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Health Tourism ด้าน Wellness Spa ในกลุ่มประเทศสมาชิก อีก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอิตาลี บัลแกเรีย มาเลเซีย ฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี และมาเลเซีย มีผู้เชี่ยวชาญด้านสปาและด้านสุขภาพ ทั้ง 7 กลุ่มประเทศสมาชิกได้ร่วมรางและพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับสปา ตัวชี้วัดมาตรฐาน Wellness Spa Service Requirements ซึ่งเป็นการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน โดยสรุปได้ว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นเรื่องของการเดินทางผนวกกิจกรรมด้านสุขภาพ อาทิ มาท่องเที่ยว และหาเวลาตรวจสุขภาพและการเข้ารักษาพยาบาลที่โรงบาลหรือคลินิก รวมทั้งการใช้โปรแกรมแพทย์ทางเลือก เช่น การนวดแผนไทย การทำสปา เสริมสวย อาบน้ำแร่ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ สมุนไพรและการเรียนรู้วิธีใช้พลังงาน จากธรรมชาติมาบำบัดรักษา สร้างเสริมสุขภาพ และสุขภาพจิตให้สดชื่นผ่องใส
ซึ่งการอาบน้ำแร่ก็เป็นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกิจกรรมหนึ่งที่จะสามารถนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์จากน้ำพุร้อนธรรมชาติในประเทศ ซึ่งเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมสปา และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศยกระดับคุณภาพการให้บริหารด้านสาธารณสุข การรักษาสุขภาพประชาชนเชิงป้องกันสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นทางเลือกใหม่ในการพักผ่อนและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในจังหวัดที่ตั้งโครงการและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเพื่อการจัดระเบียบและอนุรักษ์แหล่งน้ำพุร้อนในพื้นที่ให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ การผสมผสานแนวคิดระหว่างภูมิปัญญาไทย และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะทำให้เกิดการปรับปรุงรูปแบบสปา และการให้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งเรื่องสถานที่ ความสะอาด และความสะดวก ความปลอดภัย ด้านบุคลากรและการให้บริการสปาและการนวดไทย ถือเป็นศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ประจำชาติไทย มีหลายรูปแบบ เช่น Beauty Spa , Medical Spa , วารีบำบัด , พลังบำบัด (การใช้อัญมณี เพชร พลอย กลิ่น และสมุนไพรไทย) ทำให้เกิดความคุ้มค่าในความรู้สึกของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่มาตรฐานของการให้บริการสปาเหมือนกับประเทศแถบยุโรป และอเมริกา จะทำให้สปาของไทยก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างไม่ยากนัก ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีผู้ประกอบการจำนวนมาก ซึ่งสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมสปาโลก

โดยในปีที่ผ่านมาตลาดธุรกิจสปาไทยมีอัตราการเจริญเติบโต และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับสากลในด้านคุณภาพการบริการและผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ และมีความสำคัญไม่แพ้ธุรกิจบริการประเภทอื่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศ และยังเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับพื้นที่และการสร้างมูลค่า และการกระจายรายได้ให้กับชุมชนต่าง ๆ ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้จัดทำโครงการ “ค่าใช้จ่ายในการจัดทำแนวทางส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น