รักษาการ ศธ.จังหวัดเชียงใหม่ ยันคสช. ไม่ยุบสำนักงานเขตฯ ชัวร์!! (ชมคลิปสัมภาษณ์ยืนยัน)

“ทวนทอง” รักษาการ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ยันคำสั่งสายตรงจาก คสช. ไม่ยุบสำนักงานเขตฯ ชัวร์!!

นายทวงทอง ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ซึ่งทำหน้าที่ในตำแหน่ง ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 11/2559 กล่าวถึงแนวทางการในพื้นที่ว่า จากคำสั่ง คสช.ที่ 10/2559 และคำสั่ง คสช.ที่ 11 /2559 ออกมาและมีผลบังคับใช้ ที่จะต้องเปลี่ยนคือ จะมีศึกษาธิการภาคเพิ่มขึ้นอีก 18 สำนักงาน สำหรับ จ.เชียงใหม่ จะขึ้นกับสำนักงานศึกษาธิการภาคที่ 15 ร่วมกับ จ.ลำปาง ลำพูน และ จ.แม่ฮ่องสอน ส่วนในระดับจังหวัดก็จะมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ในสำนักงานนั้นจะมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ซึ่งจะมีองค์ประกอบอยู่ทั้งหมด 22 คน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการและศึกษาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ยังจะมีคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ อ.กศจ.ขึ้นมาอีกคณะ โดยคณะอนุฯ นี้จะเน้นในเรื่องการบริหารงานบุคคล

นายทวนทอง ศรีสวัสดิ์
นายทวนทอง ศรีสวัสดิ์

“คำสั่ง คสช. นั้นสั่งให้ยุบ อ.ค.ก.ส.เขต ทุกเขต และยุบคณะกรรมการเขตพื้นที่ทุกเขต ให้โอนย้ายงานที่อยู่ภายใต้การกำกับมาขึ้นกับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ ดังนั้นงานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้จะกำกับดูแลด้านการบริหารงานบุคคลทางการศึกษาของทั้งจังหวัด เป้าหมายก็คือการสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นภายในจังหวัด ซึ่งจะเห็นกำลังคนในภาพรวมของทั้งจังหวัด กำลังคนไปกระจุกตัวอยู่พื้นที่ไหนก็จะทราบและสามารถเกลี่ยไปยังพื้นที่ขาดได้ง่าย” ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ แจง

 

“ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดนั้น คำสั่ง คสช.กำหนดให้ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเขตที่ 1หรือ หากมีเขตเดียวก็ให้สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาจังหวัดนั้นทำหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ผอ.สพป.เขต 1 ก็ต้องทำหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด ทั้งนี้ได้มีการหารือกันทั้ง 7 เขตพื้นที่การศึกษาซึ่งรวมถึงเขตมัธยมศึกษาด้วย ได้เลือก ผอ.เขตพื้นที่มัธยมศึกษา 34 เสนอเป็นรองศึกษาธิการจังหวัด คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทั้ง 2 คณะ ทั้ง กศจ. และ อ.กศจ. เพราะเรื่องนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด” นายทวนทองฯ กล่าว

 

ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการ จ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ได้รับมอบหมายให้ทำความเข้าใจกับข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษาในทุกเขตพื้นที่ เป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการนั้นมีหลายเรื่อง และยังมีเรื่องค้างอยู่เดิมที่ต้องทำต่อให้แล้วเสร็จ แต่เดิมเรื่องเกี่ยวกับการบรรจุ การพิจารณาความชอบ ซึ่งเป็นเรื่องของ อ.ค.ก.ส. เมื่อถูกยุบไป การดำเนินการก็ต้องหยุด ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะไปอยู่ในความรับผิดชอบของ กศจ. และ อ.กศจ. เรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องชะลอไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด โดยให้แต่ละเขตการศึกษาทั้ง 7 เขตรวมทั้งเขตมัธยมศึกษาด้วยเตรียมข้อมูลไว้ให้พร้อม เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดที่ว่านี้ก็ให้นำเรื่องที่เตรียมไว้เสนอได้ทันที เพื่อให้ทันตามกำหนดเวลาที่เคยปฏิบัติให้ได้

 

“นโยบายเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายให้เร่งดำเนินการในขณะนี้คือ เรื่องการลดเวลาเรียน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่องไปบางส่วนแล้ว แต่รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเป้าหมายในระยะต่อมาว่า ต้องดำเนินการให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้วราว 10 เปอร์เซ็นต์ อีกเรื่องคือ นอกจากนี้ยังมีนโยบาย การคืนครูสู่ห้องเรียน เรื่องนี้มีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกการอบรมครูจะใช้ช่องทาง ICT เป็นหลัก ให้ครูมีเวลาอยู่ในห้องเรียนมากที่สุด อีกประเด็นคือการให้ครูคืนถิ่น ครูที่เกษียณไปก็ให้เพิ่มครูในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนครูที่เกษียณ โดยบรรจุครูที่มีอุดมการณ์และอยู่ในท้องถิ่นที่โรงเรียนแห่งตั้งตั้งอยู่เป็นเกณฑ์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการห้องเรียนขนาดเล็ก การยกระดับความรู้เรื่องภาษาอังกฤษ การอ่านออกเขียนได้”

 

“เรื่องที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเร่งดำเนินการ โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญคือเรื่องของ ข้อมูล โดยที่ข้อมูลทางด้านการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่มีศูนย์กลางในการรวบรวมให้อยู่รวมกัน ยังกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไปในทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่” นายทวนทองฯ กล่าว
ศึกษาธิการเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมของโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ น่าจะผลดีต่อภาพรวมในการบริหารจัดการทางการศึกษาที่จะคล่องตัวมากขึ้น อีกประเด็นที่เป็นกังวลกันแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศคือ จะไม่มีการยุบเลิกเขตพื้นที่การศึกษาที่มีอยู่อย่างแน่นอน หากใครคิดจะยุบต้องผ่านรัฐมนตรีฯ ก่อนเป็นอันดับแรก ผอ.เขต 1 ต้องสวมหมวกหลายใบ ทั้งในหน้าที่ ผอ.เขต ทั้งศึกษาธิการจังหวัด และกรรมการเลขานุการ กศจ. ที่สำคัญคือ ทุกคน ทุกตำแหน่งหน้าที่ต้องมี ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน หรือ KPI ครบ 6 เดือนจะมีการประเมิน หากผ่านก็จะมีการแต่งตั้ง ถ้าไม่ผ่านก็จะมีการเปลี่ยนตัวคนอื่นมาทำแทน

 

“แต่เดิม อ.ก.ค.ศ.ของแต่ละเขตจะทำงานไปคนละทิศทางกัน แต่นี้ต่อไปภาพรวมของจังหวัดจะชัดเจนขึ้น การทำงานจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ทั้งนี้ในการดำเนินการต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่กระทบในส่วนของโรงเรียนเลยแม้แต่น้อย โรงเรียนก็ยังคงดำเนินการเป็นไปตามปกติทั้งด้านการเรียนการสอน การบริหารในส่วนของโรงเรียน แต่การบรรจุแต่งตั้งจะมาอยู่ที่จังหวัด ส่วนสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต จะยังคงอยู่ไม่ได้ถูกยุบเลิก แต่จะไปเน้นการทำงานในด้านวิชาการ โดยมีองค์คณะเกี่ยวกับทางด้านวิชาการดูแลอยู่เพื่อให้งานทางด้านวิชาการของแต่ละเขตเข้มแข็ง ส่วนการบริหารงานบุคคลการบริหารงานหลักๆ จะมาอยู่ที่ศึกษาธิการจังหวัด” ศึกษาธิการ จ.เชียงใหม่ แจง

 

“การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะมีทั้ง 2 ฝ่าย มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่คนส่วนใหญ่เมื่อเริ่มเข้าใจแล้ว เห็นด้วย เป็นการเห็นด้วยในประเด็นที่ว่า การเปลี่ยนแปลงก็น่าจะดีกว่าเดิม หากยังทำแบบเดิมๆ ผลก็จะเท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ หากแต่คิดเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความคล่องตัว ผลที่ได้รับอาจดีขึ้นมากกว่าเดิมก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องรอดูผลการดำเนินการซึ่งถูกกำหนดด้วยตัวชี้วัด หรือ KPI ของแต่ละคน แต่ละตำแหน่ง แม้แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ต้องมี KPI ด้วย ซึ่งจะขึ้นตรงกับศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ประเมินตามตัวชี้วัด ศึกษาธิการก็จะถูกประเมินโดยศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการภาคก็จะถูกประเมินโดยกระทรวงฯ ซึ่งตัวชี้วัดนั้นจะกำหนดชัดเจน ดังนั้นในแต่ละตำแหน่งงานที่เป็นงานนโยบาย งานที่เป็นงานเร่งด่วนภายใน 6 เดือนนี้ต้องมีการขับเคลื่อนให้ชัดเจนตามที่ตัวชี้วัดกำหนด หากไม่ผ่านก็ต้องเปลี่ยนตัวคนที่ทำงานในตำแหน่งนั้นๆ ในทุกระดับ” นายทวนทองฯ กล่าว

 

“ศึกษาธิการจังหวัด จะเหมือนในอดีตก็คงแค่ชื่อ แต่กระบวนการไม่เหมือน ในอดีตการทำงานของศึกษาธิการจังหวัดจะเป็นการใช้อำนาจเดี่ยว แต่ศึกษาธิการจังหวัดที่มีอยู่ขณะนี้จะทำงานเป็นองค์คณะ โดยมีความเป็นเอกภาพของความเป็นจังหวัด ที่สำคัญที่สุด หากองค์คณะนี้ได้บุคลากรที่ทรงคุณธรรมทั้งหมดมาร่วมเป็นกรรมการนั่นหมายถึงจังหวัดนั้นการทำงานก็จะมีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว มีความเป็นเอกภาพ ส่วนจะมีศึกษาธิการอำเภอหรือไม่นั้นต้องรอกฎหมายที่จะออกมารองรับต่อไป” นายทวงทอง ศรีสวัสดิ์ ทำหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในที่สุด

 

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น