“เรนโบว์เทราต์ ” ปลารสชาติดี…ที่อินทนนท์

B1 B2ปลาเรนโบว์เทราต์ (rainbow trout) เป็นปลาน้ำจืด รสชาติดี และเป็นที่นิยมบริโภค เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมกา 3 สูง ติด 10 อันดับแรกของปลาทั้งหมด (ปลาเรนโบว์เทราท์ 100 กรัม มีโอเมกา3 1.0 มิลลิกรัม) กรดไขมันโอเมกา 3 ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในร่างกายและประจุอิสระในกระแสเลือด

ในปี พ.ศ. 2540 หน่วยทดลองเลี้ยงปลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ กรมประมง เริ่มโครงการทดลองเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทราท์ใน ระบบบ่อแบบน้ำไหล (flow-through system) ณ ดอยอินทนนท์

ภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง โดยใช้น้ำจากลำธาร ซึ่งไหลมาจากน้ำตกสิริภูมิ แหล่งต้นน้ำบนดอยอินทนนท์ และปล่อยน้ำกลับสู่ลำธารเมื่อน้ำไหลผ่านระบบแล้ว การทดลองพบว่าปลาเรนโบว์เทราท์เจริญเติบโต และขยายพันธุ์ได้ดี แต่การเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราท์ในระบบบ่อแบบน้ำไหล ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และมีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
ต่อมา เมื่อปี 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้เพาะเลี้ยงเป็นฟาร์มปลา ส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไทยภูเขาเลี้ยงเป็นรายได้ ระยะแรกนำมาทดลองเลี้ยงที่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ โดย ดร.คุณหญิงโกมุท อุ่นศรีส่ง ผู้อำนวยการและคณะศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดเชียงใหม่ ผลการทดลองพบว่า ปลาเรนโบว์เทร้าท์สามารถเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ในประเทศไทย ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 – 7 เดือนนำไปประกอบเป็นอาหารได้ แต่ในต่างประเทศจะต้องใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 18 เดือน ทำให้บ้านเราได้เปรียบในด้านอากาศที่หนาวเย็นพอเหมาะ สามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี

ในด้านการขยายผลสู่เกษตรกรชาวไทยภูเขาเลี้ยงนั้น ดร.ประสาน พรโสภิณ ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดเชียงใหม่ กล่าวว่า ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความสะอาดของน้ำ จะต้องใสสะอาดปราศจากสารเคมี น้ำต้องไหลเวียนตลอดเวลาและมีความเย็นที่พอเหมาะ ได้ทดลองขยายผลในแปลงของเกษตรกรที่บ้านแม่กลางหลวง เป็นการใช้พื้นที่ดินแบบผสมผสานกัน ด้วยวิธีการเลี้ยงปลาในที่สูงที่น้ำไหลตลอดเวลา พื้นที่ตอนกลางเป็นที่ทำนา และพื้นที่ตอนล่างทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามร่วมกับการปลูกข้าว ส่วนพื้นที่อื่นที่อยู่ระหว่างการทดลองเลี้ยง เช่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด โครงการพระราชดำริดอยดำ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ด้วยเหตุที่ปลาเรนโบว์เทร้าท์เป็นปลาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื้อปลามีราคาแพง และบ้านเราสามารถเพาะเลี้ยงได้ ทำให้เกิดความสนใจของผู้บริโภค ดังนั้น อาจารย์สัญชัย จตุรสิทธา ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาระดับปริญญาโท คือ นายศิวพงษ์ ยะมะกะ นายเทิดชัย เวียรศิลป์ ได้ทำการศึกษาวิจัยคุณภาพและสารอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าด้านการตลาดของเนื้อปลา โดยศึกษาวิจัยร่วมกับปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาช่อน ปลาหมอตาล ปลาทะเล เช่น ปลากุเลา ปลากะพงแดง และปลาทู ผลการศึกษาพบว่าปลาเรนโบว์เทร้าท์เป็นปลาน้ำจืดที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงมากกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่น เป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสายยาว ซึ่งปกติจะพบในพืชและสัตว์บางชนิด แต่คนเราไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ จึงเป็นกรดไขมันที่มีความจำเป็นต่อการบริโภค หากรับประทานวันละ 500 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยป้องกันโรคหัวใจ ปรับระบบการทำงานของระบบสมองและประสาท ส่งเสริมทักษะความจำและการเรียนรู้ของเด็ก ช่วยลดความจำเสื่อมและภาวะซึมเศร้า มีผลต่อการทำงานของระบบหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบการไหลเวียนของโลหิต จะช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด ป้องกันภาวะข้ออักเสบ ฯลฯ นอกจากนี้ในเนื้อปลายังมีโปรตีน 27 %

ขนาดของปลาเรนโบว์เทร้าท์ใช้ประกอบอาหารนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคคนไทยจะนิยมปลาที่มีขนาดประมาณ 300 กรัม ชาวอเมริกันและยุโรปรับประทานอาหารแบบจานเดียว จึงใช้ปลาขนาด 200 – 250 กรัม ส่วนชาวจีนชอบอาหารแบบโต๊ะจีน จึงต้องการปลาขนาดใหญ่ประมาณ 500 – 800 กรัม 1 ตัว เฉลี่ย 3 ตัว/กิโลกรัม ในการประกอบอาหารจากปลาเรนโบว์เทร้าท์นั้นมีหลายอย่าง เช่น รมควัน ขนมจีนน้ำยา นึ่งซีอิ๊ว นึ่งมะนาว ราดพริก และปลาเรนโบว์เทร้าท์สามรส

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานประชาสัมพันธ์ มูลนิธิโครงการหลวง โทรศัพท์ 0 – 5381 – 0765 ต่อ 104 , 108 หรือที่สถานี ฯ 0 – 5328 – 6770 – 7 www.royalinthanon.com 

ร่วมแสดงความคิดเห็น