10 เขื่อนใหญ่น้ำน้อย ก.เกษตรฯ ยันมีแผน พอใช้ถึงสิ้นเดือน ก.ค.59

B6 B7นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน (22 มี.ค. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 2,369 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 อีกประมาณ 2,564 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักมาใช้รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก และหลายฝ่ายมีความกังวลว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอใช้ก่อนฝนมา มี 10 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี และเขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา นั้น กระทรวงเกษตรฯ ขอชี้แจงว่าปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าว ทั้ง 10 แห่ง ได้มีแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ เพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนการใช้น้ำ ต้องร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งยังจะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคต

สำหรับกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนว่า ในช่วงวันที่ 24 – 26 มี.ค. 59 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นโดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองกับมีลมพัดแรง ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อาจจะทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านที่บางไทร ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมกันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่ตอนล่าง ให้ปิดประตูน้ำตามคลองต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้าไป ตลอดจนไม่ให้สูญเสียน้ำจืดในการผลักดันน้ำเค็ม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวงด้วย

ในส่วนของ ผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด(21 มี.ค. 59) กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 139,216 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 2,552.61 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 28,250 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 9,354 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 101,612 คน

ร่วมแสดงความคิดเห็น