ปัญหาที่ยังไร้ทางออก

ศึกคนชนคน หรือเอ็นเอฟแอล เป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความมันส์และความลุ้นระทึกเหล่านั้น กีฬาชนิดนี้ยังมีด้านมืดอยู่เช่นกัน นั่นก็คือนักกีฬาเอ็นเอฟแอลส่วนใหญ่มักประสบปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากสมองได้รับความกระทบกระเทือนบ่อยครั้ง

นักกีฬาเอ็นเอฟแอลหลายคนมีปัญหาสุขภาพจิตหลังเลิกเล่น บางคนมีสภาวะซึมเศร้า ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และโรคภาวะสมองเสื่อม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากการที่ศีรษะถูกกระทบกระทั่งซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะลงแข่ง ทำให้นักกีฬาและครอบครัวต้องประสบความยากลำบากกับการดูแลรักษาปัญหาสุขภาพที่เรื้อรัง นักกีฬาหลายรายไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และหลายรายก็เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

อาการที่ส่งผลต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากการกระทบกระเทือนของสมองที่สะสมมาต่อเนื่องเหมือนที่ส่งผลต่อนักมวยนั้นไม่ได้แสดงอาการทันที แต่จะส่งผลในช่วง 8-10 ปีหลังจากนั้น ทำให้อาการเหล่านี้มักจะปรากฏในช่วงที่นักกีฬาเข้าสู่วัยกลางคนหรืออำลาวงการ แม้แต่ในวงการหนัง ยังมีผู้สร้างหนังที่ได้เอาประเด็นด้านมืดของเอ็นเอฟแอลมาทำหนังชื่อเรื่องว่า “Concussion” เพื่อตีแผ่ความน่ากลัวของผลกระทบจากอาการบาดเจ็บของสมองในนักกีฬาเอ็นเอฟแอล

ปัจจุบัน มีนักกีฬาและอดีตนักกีฬาเอ็นเอฟแอลหลายรายรวมตัวกันฟ้องเอ็นเอฟแอลว่า เอ็นเอฟแอลจงใจปิดยังข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายเรื่องของการที่สมองถูกกระทบกระเทือนในการแข่ง และไม่ได้ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของผู้เล่นมากพอ แม้เอ็นเอฟแอลจะยอมจ่ายค่าตรวจรักษา ค่าชดเชยเยียวยาให้กับนักกีฬาบางส่วน รวมถึงค่าทุนศึกษาวิจัยทางการแพทย์ แต่ด้วยระยะเวลาที่ล่าช้า และจำนวนเงินที่ได้ก็ถือว่าไม่คุ้มกับสุขภาพและหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไป

ขณะที่นักกีฬาเอ็นเอฟแอล รวมถึงนักแข่งรถอีกหลายรายที่ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนมาแล้วหลายครั้งได้วางแผนบริจาคสมองหลังเสียชีวิต เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยในการศึกษาอาการบาดเจ็บ ผลกระทบ และแนวทางในการป้องกันรักษาอาการป่วยจากการกระทบกระเทือนของสมองที่สะสมมาต่อเนื่องอีกด้วย

ส่วนทางเอ็นเอฟแอลนั้นแม้จะมีความพยายามในการหาทางออกหลายๆ อย่างทั้งการปรับระบบ ระเบียบ อุปกรณ์ป้องกัน ในการป้องกันการกระทบกระเทือนสมองของผู้เล่น แต่ดูเหมือนยังไม่มีวิธีไหนที่น่าจะมีประสิทธิภาพพอ ขณะที่รายงานสถิติจำนวนนักกีฬาที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนซึ่งเก็บมาตั้งแต่ปี ต.ค. 2003 ก็โดนเดอะ ไทมส์แฉว่าจำนวนตัวเลขดังกล่าวไม่ตรงความจริง เพราะแพทย์ของทีมต่างๆ ไม่ได้แจ้งจำนวนที่แท้จริง และคาดกันว่าในรายงานมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าความเป็นจริงถึง 10% เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดีด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่ได้จากลีกการแข่งขัน ดูเหมือนว่าคงไม่มีทางที่วงการอเมริกันฟุตบอลจะยอมยุติและปิดตัวลงเพียงเพื่อปัญหาสุขภาพ ได้แต่หวังว่า ที่สุดแล้วจะมีใครค้นพบทางออกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพให้กับนักกีฬาเอ็นเอฟแอลได้ในเร็ววันนี้

ซือเจ๊

ร่วมแสดงความคิดเห็น