ดราม่าบอลโลก

ถึงจะจั่วหัวไว้แบบนี้ แต่วันนี้ซือเจ๊ไม่ได้จะมาเมาธ์เรื่องบอลไทยจะไปบอลโลกแต่อย่างใด บอลโลกในที่นี้หมายถึงบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์ต่างหาก เพราะประเด็นเรื่องแรงงานทาสที่นั่นกำลังมาแรงเชียวค่ะคุณผู้ชม
นับตั้งแต่ที่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพบอลโลก 2022 โครงการและการก่อสร้างต่างๆ ก็ผุดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด ทำให้มีการนำเข้าแรงงานจำนวนกว่า 1.5 ล้านคนจากทางเอเชียใต้อย่างอินเดีย, เนปาล, บังกลาเทศ, ศรีลังกา และแอฟริกาอย่างเคนย่า, กาน่า
อย่างไรก็ดี ด้วยอุณหภูมิกลางแจ้งที่ร้อนกว่า 40-50 องศาเซลเซียส อากาศก็เต็มไปด้วยฝุ่นทราย ห้องพักขนาดเล็กที่อยู่กันอย่างแออัด อาหารการกินที่มีราคาแพงและอัตคัต ไม่มีน้ำดื่มให้ ความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขอนามัย และทำงานตั้งแต่ตี 4 จนถึง 1 ทุ่ม บางครั้งก็บังคับให้แรงงานทำงานที่ยากหรืออันตรายเกินความสามารถ เพื่อแลกกับค่าแรงราวเดือนละ 350-550 เหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 12,000-19,000 บาทแล้วแต่ตำแหน่ง และบางครั้งพวกเขาก็ได้รับค่าแรงล่าช้าเป็นเดือนๆ
ที่สำคัญคือแรงงานส่วนใหญ่มักถูกบริษัทตัวแทนยึดพาสปอร์ตทันทีที่ไปถึง ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือออกจากาตาร์ได้ นอกจากนี้ การแสดงความเห็นต่างๆ ของคนงานต่อสภาพการทำงานที่เลวร้าย ไม่ปลอดภัย ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน หรือการขาดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ กลับไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทตัวแทนหรือนายจ้าง ขณะที่แรงงานบางคนก็ไม่อยากรายงานปัญหาที่มีต่อบริษัทหรือหน่วยงานรัฐฯ เพราะกลัวถูกส่งตัวให้ตำรวจ หรือถูกส่งกลับบ้านก่อนจะทันหาเงินใช้หนี้หรือมีเงินเก็บ
คนงานหลายคนไม่กล้าบอกสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ให้ที่บ้านรู้ เพราะกลัวคนที่บ้านจะเป็นห่วงหรือสั่งให้กลับ ขณะที่คนงานเนปาลหลายคนก็ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมครอบครัวหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในเนปาลเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว
ยังมีรายงานจากองค์กรการค้าระหว่างประเทศที่พบว่า มีแรงงานจากอินเดียและเนปาลเสียชีวิตที่กาตาร์แล้วกว่า 1,239 รายในช่วงปี 2011-2013 ซึ่งเมื่อเทียบกับการก่อสร้างมหกรรมกีฬาระดับสากลที่อื่นแล้วถือว่าแตกต่างมาก เพราะการก่อสร้างเตรียมงานโอลิมปิกส์ที่ลอนดอนและแวนคูเวอร์มีคนงานเสียชีวิตที่ละแค่รายเดียว ขณะที่บอลโลกที่แอฟริกาใต้มีคนเสียชีวิต 2 โอลิมปิกส์ที่ปักกิ่งมีคนเสียชีวิต 6 คน ส่วนบอลโลกที่บราซิลมีคนเสียชีวิต 10 คน ขณะที่โอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่รัสเซียมีคนเสียชีวิต 60 คน
จากสถิติคนเสียชีวิต 1,239 รายตลอดสามปีนั้นเป็นข้อมูลแรงงานที่เสียชีวิตจากสถานทูตของอินเดียและเนปาลในกาตาร์เท่านั้น ซึ่งแรงงานที่เสียชีวิตบางส่วนอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสำหรับบอลโลกดังกล่าว และต่อให้เกี่ยวข้องก็อาจเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นเช่นอุบัติเหตุทางถนนหรือโรคหัวใจ ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียยังมองว่าตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานอินเดียกว่าครึ่งล้านที่ทำงานอยู่ในประเทศกาตาร์ และเมื่อเทียบกับยอดแรงงานที่เสียชีวิตในประเทศอินเดียเองเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ตอนนี้องค์การนิรโทษกรรมสากลซึ่งทำงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานเริ่มเรียกร้องให้ฟีฟ่า ประเทศกาตาร์ และสปอนเซอร์รายใหญ่ของบอลโลกหันมาใส่ใจ และปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ รวมถึงสิทธิของแรงงานต่างชาติมากขึ้น ก็ได้แต่หวังว่าการกระทำเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีความเป็นอยู่ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมมากขึ้นในเร็ววันนะเจ้าคะ

ซือเจ๊

ร่วมแสดงความคิดเห็น