สกู๊ปหน้า 1 เที่ยวช่วยไทย ไปแอ่วหละปูน

1.jpg 2.jpg

จังหวัดลำพูนหรือ”เมืองหละปูน”..เมืองบุญหลวงแห่งล้านนา จังหวัดที่ได้รับการเปรียบเปรยว่า”เป็นเมืองเล็กดี รสโต “

ในบรรยายสรุปของจังหวัดลำพูน ระบุว่า ลำพูน เดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี
ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤาษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตร หรือ ชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง

เมื่อสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญ ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชย สืบราชวงศ์กษัตริย์ ต่อมาหลายพระองค์

จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาเสียเมืองแก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวม แว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา ถึงแม้จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง

ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา

จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย ลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

จังหวัดลำพูน เป็นเมืองที่มีการผสมผสานระหว่างเมืองเกษตร เมืองเศรษฐกิจและเมืองหัตถกรรมอย่างกลมกลืนลงตัว
ด้วยเป็นจังหวัดที่มีการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือขึ้นโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลบ้านกลาง อ.เมือง ลำพูน เมื่อ พ.ศ. 2526

เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520–2524) บนพื้นที่กว่า 1,788 ไร่

เป็นฐานผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีอนาคตสดใสอีกแหล่งของอาเซียน

สร้างรายได้ในพื้นที่ และกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจต่อคนสูงเป็นอันดับหนึ่งในภาคเหนือ

นอกจากนั้น ลำพูน ยังเป็นเมืองสินค้าหัตถกรรม ผ้าฝ้ายทอมือ เกือบทุกอำเภอนิยมทำกันเป็นอาชีพเสริมหลังจากเสร็จสิ้นงานเกษตรกรรม

แต่ที่มีชื่อเสียงมากคือ อำเภอป่าซาง โดยเฉพาะที่บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่แรง
ในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์

บ้านดอนหลวงและบ้านหนองเงือก ได้จัดงานเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าพื้นบ้าน โดยเฉพาะผ้าฝ้าย

บ้านดอนหลวง..จัดงานแต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง เริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2546 โดย อบจ.ลำพูน ร่วมกับชุมชนตำบลแม่แรง และภาคส่วนต่างๆในพื้นที่อำเภอป่าซาง รวมถึงหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว-พัฒนาชุมชน
โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน

ช่วง 1-5 เมษายนนี้ จัดงานเป็นครั้งที่ 14 นำเสนอแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านดั้งเดิมของคนในท้องถิ่นที่ยังคงยึดอาชีพทอผ้าฝ้าย ซึ่งนักท่องเที่ยว สามารถทดลองวิถีของชุมชน

ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การสาธิตการทอผ้าฝ้ายพื้นเมือง การจำหน่ายอาหารพื้นเมือง (กาดมั้ว) ลานขันโตกชมการแสดงพื้นเมืองของชาวบ้านและนักเรียนในตำบลแม่แรง

รวมถึงการจำหน่ายผ้าฝ้าย ผ้าทอ ซึ่งเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อ เป็นของฝากของที่ระลึกในราคาย่อมเยาว์ ท่ามกลางบรรยากาศกลิ่นอายแห่งมนต์เสน่ห์แห่งล้านนาด้วยเสียงเพลงสะล้อ ซอ ซึง ที่บรรเลงขับกล่อมตลอดการจัดงาน
ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูนได้คัดเลือกและสนับสนุนให้หมู่บ้านดอนหลวงและหมู่บ้านหนองเงือก เป็นย่านการค้าของจังหวัดลำพูน

ในส่วนของบ้านหนองเงือก ซึ่งเป็นอีกแหล่งผลิตผ้าฝ้ายคุณภาพ และผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองหลากรูปแบบเป็นที่ต้องตา ต้องใจของตลาด ยังได้ริเริ่มจัดงานสืบสาน ตำนานฝ้ายงามหนองเงือก จัดครั้งแรกเมื่อปี 2548

ในปีนี้กำหนดจัดระหว่าง 9-12 เมษายน ที่บ้านหนองเงือก โดยจัดเป็นครั้งที่ 10
หญิงสาวในหมู่บ้านหนองเงือกมีความสามารถในการทอผ้า ลวดลายของฝ้ายทอมือคงอัตลักษณ์เดิมจากบรรพบุรุษ ด้วยความใส่ใจที่มีในทุกๆ ขั้นตอน และใจรักในงานทอผ้าฝ้ายทอมือของบ้านหนองเงือก จึงมีความงดงาม เนื้อผ้ามีมิติ มีความเรียบความนูน ดูมีชีวิตชีวา ปัจจุบันบ้านหนองเงือกได้รับคัดเลือกเป็นแกนนำหลักของเครือข่ายกลุ่มผ้าทอของจังหวัดลำพูนร่วมกับบ้านดอนหลวง ชาวบ้านหนองเงือกได้สืบสานการทอผ้าฝ้ายและกรรมวิธีจากบรรพบุรุษ
และชาวบ้านหนองเงือก มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำลวดลายดั้งเดิมมาประยุกต์ให้ทันยุคทันสมัยโดยการเพิ่มความสลับซับซ้อนและเล่นสีสันในลวดลาย เช่น ลายเกล็ดเต่าลูกอม ลายเกล็ดเต่าหมู่ ลายเกล็ดเต่าจิ๋ว ลายเกล็ดเต่าตา ลายดอกช้าง ลายดอกนก ลายดอกบัวเครือ ลายดอกขอลายไทย เป็นต้น

ลวดลายของฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือกจึงหลากหลายและทันสมัยอยู่เสมอ

การจัดงานสืบสานตำนานฝ้ายงามหนองเงือก ใช้สถานที่บริเวณลานหน้าวัดหนองเงือก บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 เป็นการเล่าขานตำนานการทอผ้าฝ้ายทอมือของบ้านหนองเงือก 12 ขั้นตอนอันเลื่องชื่อ

เชิญชมและสัมผัสบรรยากาศวัฒนธรรมของชาวยองที่เรียบง่าย ชมการประกวดตีกลองสะบัดชัย, การประกวดตีกลองปูจา ประกวดทำอาหารขนม ประกวดฟ้อนยอง การประกวดธิดาผ้าฝ้าย กิจกรรมบันเทิงพบกับศิลปินล้านนา

ขอเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัสมนต์เสน่ห์ผ้าฝ้าย และวิถีชีวิตชุมชนชาวยอง ภายในงาน ” แต่งสี อวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง ” ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน 2559 ณ บ้านดอนหลวง หมู่ที่ 7

และงานสืบสานตำนานฝ้ายงามหนองเงือก ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่9-12 เมษายน 2559 ณ บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

ปีนี้ชุมชนตำบลแม่แรง……ร่วมกับททท.,แอร์เอเชีย ร่วมจัดกิจกรรม เที่ยวงานนี้ลุ้นบินฟรี เที่ยวไทยฟรี…อิ่มอุ่นใจ…ในหลายๆกิจกรรม….ครับ!!!

ร่วมแสดงความคิดเห็น