“ยิ่งนานยิ่งรัก” วิจัย ม.ช.เผยคนเมืองยิ้มรับนักเที่ยวจีน!!

IMG_7277

วันที่ 7 เม.ย.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนด้วยการออกแบบสอบถามออนไลน์ เรื่อง “ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนต่อคนท้องถิ่น ปีที่ 3” โดยมีนางกรวรรณ สังขกร นักวิจัย (ชำนาญการ) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ทำการสำรวจ ที่สืบเนื่องมาจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีปริมาณมากขึ้นทุกปี โดยได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นของประชาชนชาวเชียงใหม่กลุ่มเป้าหมายคือเครือข่ายผู้ที่ใช้ Facebook และก่อนหน้านี้ได้มีการเคยทำแบบสอบถามลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 2 ปี โดยแต่ละปีจะพบว่ามีการตอบรับและปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสังคมชาวเชียงใหม่ เนื่องจากในการตอบแบบสอบถามมีความเห็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบ และพบว่าในปีนี้ผลตอบรับของนักท่องเที่ยวนั้นเริ่มมีการตอบรับที่ดีขึ้น อันเนื่องมาจากการทำความเข้าใจและการเปิดรับของคนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาที่ติดตามมาด้วย

โดยทาง นางกรวรรณ สังขกร นักวิจัย (ชำนาญการพิเศษ) หัวหน้าศูนย์วิจัยบริการและวิชาการ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากเมื่อ 3 ปีก่อน พบว่าเป็นช่วงที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น จากปกติที่ก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวจีนนั้นไม่ได้มองว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นสถานที่ ที่ต้องการจะเข้ามาท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นจะหันไปท่องเที่ยวทาง พัทยา ภูเก็ต และกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่พอ 3 ปีที่แล้วเริ่มพบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่และเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในการทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบนั่นก็ทราบมาว่าเริ่มมีผู้คนเข้าไปวิจารณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมากในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถนำมาทำเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการได้ จึงได้มีการดำเนินการทำแบบสอบถามขึ้นมาในรูปแบบง่ายๆ ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยเน้นในเรื่องของผลกระทบของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในเมืองเชียงใหม่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยได้มีการออกแบบสอบถามดังกล่าวในช่วงประมาณหลังเทศกาลตรุษจีนครั้งแรกในปี 2557 ซึ่งภายหลังการออกแบบสอบถามไปได้เพียง 3 วัน ปรากฎว่ามีผลตอบรับกลับมาถึง 2,000 โพสต์”

“หลังจากนั้นจึงได้นำมาประเมินผลจนทราบว่าตอนนั้นคนในท้องถิ่นประมาณกว่า 70% ไม่ชอบใจนักกับนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามา จากนั้นจึงได้ทำการศึกษาต่อว่าสาเหตุนั้นมีปัจจัยมาจากอะไรบ้าง จนกระทั่งทราบว่าในช่วงแรกปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุดเป็นเรื่องของการสื่อสารเนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวใหม่ๆ ประกอบกับคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารพูดคุยเป็นภาษาจีนได้มากนัก นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ที่มาท่องเที่ยวนั้นไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ รวมทั้งภาษาไทยด้วย อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวโดยอาศัยโปรแกรม Application จึงทำให้เกิดการรับทราบข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเมืองไทยที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจจะไม่ครบถ้วนตามกระบวนการ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาทางหน่วยงานภาครัฐก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการออกเอกสารข้อแนะนำในการปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับทางกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ระดับหนึ่งโดยจะสังเกตุได้จากการติดป้ายประกาศหรือป้ายเตือนที่มีภาษาจีนเพิ่มเข้ามา เพื่อแจ้งให้กับนักท่องเที่ยวจีนได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องมากขึ้น ดังนั้นเมื่อทางศูนย์วิจัยฯ เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2558 พบว่าคนในท้องถิ่นเริ่มคุ้นเคยกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น โดยภายหลังจากที่ได้มีการออกแบบสอบถามไปประมาณ 1,000 กว่าชุดก็ได้รับผลตอบรับที่ดี และในปีนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ก็ยังมีการออกแบบตอบถามอีกเช่นกันโดยในปีนี้ได้ลดปริมาณน้อยลงเหลือประมาณ 700 ชุด”

“แต่อย่างไรก็ตามในการทำวิจัยแต่ละปีนั้นก็พบว่ามีปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละปีที่ไม่ซ้ำกัน ซึ่งจากปีแรกที่มีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารที่เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยวจีน ส่วนในปีที่สองก็จะเป็นเกี่ยวกับพฤติกรรมบางอย่างที่คนในท้องถิ่นรับไม่ได้ ซึ่งก็ได้มีการชี้แจงและแนะนำการปฎิบัติที่ถูกต้องก็สามารถแก้ไขปัณหาได้ แต่ในปีนี้กลับพบปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอีกอย่างคือ เรื่องของรถส่วนตัวที่นักท่องเที่ยวจีนนำเดินทางเข้ามาในพื้นที่เอง ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่าคนในพื้นที่เริ่มไม่ปลื้ม เนื่องจากเมื่อทางนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้มีการนำรถเข้ามาเป็นจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจรที่ติดขัด หรือมีการนำรถบ้านเข้าไปจอดในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ในวัด ในสถานที่ราชการ เป็นต้น”

นางกรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “นอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้วนั้นยังมีปัญหาที่กำลังพบมากในขณะนี้คือ นักธุรกิจจีนเริ่มมองเห็นช่องทางและโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ เพื่อที่จะตอบสนองและรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวของจีนที่เข้ามามากยิ่งขึ้น ซึ่งในจุดนี้อยากแนะนำกับทางกลุ่มผู้ประกอบการของไทยว่าจะต้องตั้งรับให้ทันกับสิ่งที่ทำมา หรือบางสิ่งที่กลุ่มนักธุกิจเหล่านี้กำลังจะเริ่มลงทุน เนื่องจากว่ากลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้มองข้ามไปมากกว่าสิ่งที่เรากำลังคิดไปหลายสเต็ป หรืออาจจะต้องพลิกมุมมองใหม่เพื่อให้ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับแนวโน้มที่คาดว่าในอนาคตจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเข้ามายังประเทศอีกเป็นจำนวนมาก โดยจะสังเกตุได้จากเมื่อช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศที่อยู่สูงถึง 130 ล้านคน และเข้ามาที่ประเทศไทยประมาณ 8 ล้านคน แต่คาดการณ์ว่าในอีก 4-5 ปี ข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวจีนออกนอกประเทศที่อยู่สูงถึง 300 ล้านคน และคาดว่าจะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ดีด้วย”

“สำหรับปริมาณจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในประเทศไทย 8 ล้านคน ที่กล่าวไปแล้วนั้น จากสถิติพบว่ามีปริมาณ 8 แสน ถึง 1 ล้าน คน ที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ และพบว่าเดินทางไปยังภูเก็ตมากถึง 2 ล้านคน ต่อปี ส่วนที่บอกว่าเข้ามาลงทุนทำธุกิจในไทยที่สังเกตุเห็นอย่างเช่น ธุรกิจโรงแรม โดยเข้ามาขอซื้อ ขอเช่าทำกิจการระยะยาว 30-50 ปี อีกทั้งยังมีกิจการด้านอาหาร ที่เน้นทำเพื่อตอบรับกับนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกิจการที่ให้บริการสำหรับจุดจอดรถของนักท่องเที่ยวจีน โดยมีการนำป้ายที่เป็นภาษาจีนไปวางตามจุดต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนทราบว่าควรจะขึ้นรถตรงจุดไหน โดยมีการจ่ายเงินค่าบริการต่างๆ ผ่านทางโปรแกรม WeChat ที่คล้ายๆ กับโปรแกรม line ที่เราใช้กันอยู่ เนื่องจากว่าโปรแกรม line นั้นประเทศจีนไม่สามารถใช้ได้ โดยการใช้โปรแกรม WeChat  นี้ทำการสแกนบาร์โค้ดเพื่อทำการชำระเงินผ่านโปรแกรมดังกล่าวที่อยู่ในประเทศจีน ทำให้เงินไม่ไหลเข้ามายังในประเทศ  นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารบางร้านที่มีการทำรูปแบบดังกล่าวเพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวโดยที่ไม่ต้องใช้เงินและใช้ Application ดังกล่าวก็สามารถเที่ยวได้ในประเทศไทย”

“อย่างไรก็ตามจากการทำวิจัยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่าความพึงพอใจของคนในท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยวจีนนั้น ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก จากก่อนหน้านี้ที่มีการทำวิจัยปีแรกๆ ที่พบว่ามีการต่อต้านมาก แต่ตอนนี้คนในท้องถิ่นเริ่มมีการปรับตัวและเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดมากขึ้นส่งผลให้ความไม่พอใจมีจำนวนลดลง แต่อย่างไรก็ตามหากมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นมาก็อาจทำให้มีการะแสต่อต้านเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นการดำเนินการและการให้คำแนะนำกับนักท่องเที่ยวจีนนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน” นางกรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น