มาตรการรัฐหนุน สงกรานต์ปีนี้เงินสะพัด

b.6ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้อานิสงส์ จากครม.อนุมัติมาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยว คาดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ 24,100 ล้านบาท ขณะที่คาดการณ์ บรรยากาศการท่องเที่ยวสงกรานต์ปีนี้ อาจไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากภัยแล้งที่ส่งผลให้ภาคส่วนต่างๆร่วมกันประหยัดน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีการลดจำนวนวันในการจัดงานสงกรานต์ลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลของมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ในปี 2559 นี้ น่าจะอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากผู้ที่มีแผนการที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ ส่วนใหญ่วางแผนการเดินทางท่องเที่ยวและจองซื้อบริการล่วงหน้าไปแล้ว จึงอาจเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการท่องเที่ยวไม่ได้มากนัก ส่วนกลุ่มที่ยังไม่มีแผนท่องเที่ยว หรือเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงสงกรานต์ พฤติกรรมการท่องเที่ยวมักเป็นการท่องเที่ยวระยะใกล้หรือแวะเที่ยวตามเส้นทางที่เดินทางผ่าน สำหรับผลกระตุ้นต่อการใช้บริการร้านอาหารคาดว่าจะทำให้มีผู้ที่เข้าไปใช้บริการร้านอาหารที่สามารถออกใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารในช่วงระยะเวลามาตรการภาษีเพิ่มเติม 2,600 ล้านบาท จากในกรณีที่ไม่มีมาตรการ และคาดการณ์ว่าในช่วงสงกรานต์นี้จะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารรวม 36,100 ล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปี 2559 จากตลาดไทยเที่ยวไทยโดยรวม 10 วัน ประมาณ 24,100 ล้านบาทและเป็นเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจร้านอาหารในช่วงสงกรานต์ปี 2559 ประมาณ 12,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการภาษี 2 มาตรการ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวจากผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ 1) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปี 2559 โดยบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร (ไม่รวมสุรา เบียร์ ไวน์) รวมถึงค่าที่พักค่าและค่าบริการนำเที่ยว สำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษี ได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินคนละ 15,000 บาท มีผลวันที่ 9-17 เมษายน 2559 และ 2) การต่ออายุมาตรการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ที่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไปอีก 1 ปี โดยบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าที่พักและค่าบริการนำเที่ยว สำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินคนละ 15,000 บาท สำหรับนิติบุคคลที่จัดอบรมสัมมนาสามารถนำค่าห้องสัมมนา ค่าที่พัก ค่าขนส่ง รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง

โดยคาดว่าเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ 24,100 ล้านบาท เทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาและมีการแวะท่องเที่ยวระหว่างทาง ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินท่องเที่ยวสะพัดสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีคนไทยอีกกลุ่มที่ใช้โอกาสนี้สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวกับเพื่อนฝูง และครอบครัว

อย่างไรก็ดี บรรยากาศการท่องเที่ยวสงกรานต์ในปี 2559 นี้ อาจไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปัจจัยต่างๆ ทั้งภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้ภาคส่วนต่างๆร่วมกันประหยัดน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีการลดจำนวนวันในการจัดงานสงกรานต์ลง รวมถึงที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติวันหยุดราชการเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม ปี 2559 ซึ่งส่งผลให้คนไทยส่วนหนึ่งเตรียมแผนท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวไว้แล้ว ประกอบกับการต่ออายุมาตรการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยสำหรับการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2559 ส่งผลให้คนไทยส่วนหนึ่งลดการกระจุกตัวท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลของมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ในปี 2559 นี้ น่าจะอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากผู้ที่มีแผนการที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์นั้น ส่วนใหญ่วางแผนการเดินทางท่องเที่ยวและจองซื้อบริการล่วงหน้าไปแล้ว จึงอาจเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการท่องเที่ยวไม่ได้มากนัก ส่วนกลุ่มที่ยังไม่มีแผนท่องเที่ยว หรือเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงสงกรานต์ พฤติกรรมการท่องเที่ยวมักเป็นการท่องเที่ยวระยะใกล้หรือแวะเที่ยวตามเส้นทางที่เดินทางผ่าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปี 2559 น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ 10 วันเพิ่มเติม 2,100 ล้านบาท จากในกรณีที่ไม่มีมาตรการ และส่งผลให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปี 2559 รวม 24,100 ล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าว สะพัดสู่ธุรกิจต่างๆ ทั้งที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่ระลึก บริการความบันเทิง บริการท่องเที่ยว และบริการพาหนะเดินทาง

โดยคนไทยในกลุ่มที่ยังไม่ได้วางแผนท่องเที่ยวน่าจะเลือกใช้บริการที่พักที่จดทะเบียนในระบบเพื่อนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษี ส่งผลให้ธุรกิจที่พักที่จดทะเบียนในระบบน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังส่งอานิสงส์ต่อบริษัททัวร์ที่จะเป็นตัวเลือกในการใช้บริการจากกลุ่มที่ยังไม่ได้วางแผนท่องเที่ยวให้วางแผนท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ ที่อาจเลือกซื้อแพ็คเกจทัวร์รูปแบบ One-day Trip เช่น ทัวร์ทำบุญไหว้พระ ทัวร์ท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของบริการอาหารและเครื่องดื่ม พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้มากนัก เนื่องจากระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว คนไทยนิยมใช้บริการผู้ประกอบการร้านอาหารในท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้จดทะเบียนในระบบ จึงไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ จะกระตุ้นให้คนไทยในกลุ่มที่ยังไม่มีแผนท่องเที่ยวให้รับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงปัจจัยภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีการลดจำนวนวันในการจัดงานสงกรานต์ลง ส่งผลให้คนไทยส่วนหนึ่งน่าจะลดการเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ และอาจหันมารับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น เพื่อนำค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษี โดยร้านอาหารที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้ ส่วนใหญ่เป็นเชนร้านอาหาร ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารในโรงแรม รวมถึงภัตตาคาร

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปี 2559 น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจร้านอาหารในช่วงระยะเวลามาตรการภาษีเพิ่มเติม 500 ล้านบาท จากในกรณีที่ไม่มีมาตรการ และส่งผลให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจร้านอาหารในช่วงสงกรานต์ปี 2559 รวม 12,000 ล้านบาท โดยธุรกิจร้านอาหารที่จดทะเบียนในระบบควรใช้โอกาสนี้ ทำการตลาดโดยสื่อสารถึงสิทธิ์ประโยชน์จากการนำค่าอาหารและเครื่องดื่มมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยต้องเตรียมรับมือในด้านระบบการออกใบกำกับภาษีที่มีความรวดเร็ว

ประกอบกับส่วนใหญ่แล้วลูกค้าที่รับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงสงกรานต์จะเข้ามารับประทานอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มครอบครัว ดังนั้น ธุรกิจร้านอาหารต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ ทั้งหน้าร้านและหลังร้าน เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอัตราการหมุนเวียนลูกค้าอย่างสูงสุดในช่วงเทศกาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาทองของธุรกิจร้านอาหาร

อย่างไรก็ดี แม้จะมีมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ แต่ความท้าทายจากปัจจัยเศรษฐกิจในปี 2559 เช่น มูลค่าการส่งออกที่ชะลอตัวลง ภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตภาคการเกษตรลดลง ภาระหนี้สินที่สูงขึ้น เป็นต้น มีผลให้คนไทยมีแนวโน้มปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ ทั้งการเลือกที่พักและบริการนำเที่ยวราคาประหยัด รวมถึงรับประทานอาหารนอกบ้านเฉพาะมื้อที่จำเป็น โดยแนวโน้มการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของคนไทย น่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่างๆที่จ่ายจริงจากกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเฉลี่ยต่อรายน่าจะไม่เกิน 15,000 บาท หรือไม่เกินวงเงินที่สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษี

ทั้งนี้ นอกจากมาตรการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวจากภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปี 2559 และการต่ออายุมาตรการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ที่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไปอีก 1 ปี จะกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ยังน่าจะมีส่วนส่งเสริมให้คนไทยเลือกใช้บริการผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว และธุรกิจร้านอาหาร ที่จดทะเบียนและจ่ายภาษีการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่อยู่นอกระบบหันมาจดทะเบียนและจ่ายภาษีการประกอบธุรกิจ เพื่อรับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐที่ออกมามากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น