แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การผลิตพลังงานทดแทน

b.3วิศวะ มช. ร่วมกับ เอเปค และ พพ. ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านความปลอดภัยจากการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน หวังสามารถสร้างเครือข่าย ขยายการประชาสัมพันธ์ และสร้างความตระหนักให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการผลิตและใช้พลังงานทดแทนได้อย่างคุ้มค่าและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 7-9 เมษายน 2559ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ เอเปค หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานจัดประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความปลอดภัยจากการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ครั้งที่ 1 (The 1st meetingExperiences Sharing on Renewable Energy Safety) ภายใต้โครงการ Renewable Energy Safety in APECณ ห้องประชุม 3 ชั้น 7 อาคาร 30 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และคุณกุลวรีย์ บูรณสัจจะวราพรผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานทั้งนี้ มีตัวแทนสมาชิกเอเปคหลายประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และญี่ปุ่น
ในการประชุม สมาชิกเอเปคแต่ละประเทศได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานทดแทนต่างๆ ที่มีการผลิตและใช้ภายในประเทศ รวมถึงเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยที่เคยเกิดขึ้นและแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Energy Technology for Environment Research Center: ETE) เป็นผู้ดำเนินรายการการประชุม

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนประธานอาสาสมัครพลังงาน (อส.พน.) ของประเทศไทย เข้าร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับภารกิจในการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยจากการผลิตและใช้พลังงานทดแทนในโรงงานอตุสาหกรรม ฟาร์ม และชุมชน/ครัวเรือนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงมีการสาธิตการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับชมด้วย

สำหรับการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนของประเทศไทยที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังงานก๊าซชีวภาพ (Biogas) ก๊าซชีวมวล (Biomass) และพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) รวมถึงได้ดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องความปลอดภัยให้กับกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านอาสาสมัครพลังงาน (อส.พน.) หรือวิทยากรตัวคูณของโครงการรณรงค์ความปลอดภัยจากการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (Energy Safety)ที่กระจายตัวจัดกิจกรรมอบรมเผยแพร่ความรู้เรื่องความปลอดภัยทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์ม และชุมชน/ครัวเรือน ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงมีแนวคิดที่จะขยายการดำเนินงานไปสู่ประเทศสมาชิกเอเปคโดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างเครือข่าย ขยายการประชาสัมพันธ์ และสร้างความตระหนักให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการผลิตและใช้พลังงานทดแทนได้อย่างคุ้มค่าและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น