หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้น

b.4นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 6,005,787.17 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (มกราคม) หนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นสุทธิ 25,126.50 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,415,351.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27,865.09 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 1,044,482.35 ล้านบาท ลดลง134.68 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 528,522.96 ล้านบาท ลดลง 2,608.22 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 17,430.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.31 ล้านบาท

นายสุวิชญ กล่าวว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2559 สบน. มีการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 19,500 ล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 18,500 และ 1,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 6,005,787.17 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,652,533.66 ล้านบาท หรือ 94.12% และหนี้ต่างประเทศ 353,253.51 ล้านบาท ประมาณ10,087.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.88% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และแบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 5,725,074.08 ล้านบาท หรือ 95.33% และหนี้ระยะสั้น 280,713.09 ล้านบาท หรือ 4.67% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมออกพันธบัตรรัฐบาลในเดือนพฤษภาคมนี้ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท สำหรับพันธบัตรอายุ 5,10 ปี จำหน่ายให้กับประชาชนรายย่อยทั่วไป กำหนดวงเงินซื้อพันธบัตรต่อรายต่อธนาคาร แห่งละไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ย คำนวณจากผลตอบแทนของตลาดสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และคาดว่าประชาชน ผู้สนใจซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นประจำยังให้ความสนใจซื้อ การระดมทุนในช่วงนี้ เนื่องจากตั้งเป้าหมายระดมทุน เพื่อชดเชยการขาดทุนงบประมาณและพันธบัตรไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะครบกำหนดวงเงิน 8 หมื่นล้านบาทในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนที่เหลือจะหาแหล่งเงินทุนอื่นเข้ามาชดเชย
ผู้สื่อข่าวงานรายว่า สำหรับยอดหนี้สาธารณะคงค้างณ 30 ก.ย. 2558 หรือสิ้นปีงบประมาณ 2558 มีจำนวน 5,783,323.19 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.99% ของGDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ส.ค. 2558) หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 46,679.11 ล้านบาทอย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังชี้แจ้งว่ายอดหนี้ดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปีงบประมาณ ซึ่งคาดว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 43.50% โดยสาเหตุที่ต่ำกว่าคาดการณ์ มีปัจจัยสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับวิธีคำนวณอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศ และปรับฐานจีดีพี จึงมีผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น 2. เกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้โดยเฉพาะโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้มีการใช้จ่ายเงินกู้น้อยกว่าคาดการณ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น