ค่าครองชีพประชาชนพุ่ง สินค้าแพงติดหนี้สินรุงรัง

https://www.google.co.th/search?q=นายธนวรรธน์+พลวิชัย
https://www.google.co.th/search?q=นายธนวรรธน์+พลวิชัย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจค่าครองชีพไทยแพงจริงหรือไม่ และผลกระทบของประชาชนในช่วงภัยแล้ง โดยสำรวจระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-11เม.ย. 2559 จำนวน 1,356 ตัวอย่างทั่วประเทศ ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้พอดีกับรายจ่ายรายจ่าย แต่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และรับจ้าง ยอมรับว่าตนมีรายได้ ไม่พอกับค่าใช้จ่าย และยังรู้สึกว่าราคาสินค้าในปัจจุบันมีราคาแพงขึ้น เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน หรือประมาณ 2-3 ปีก่อนหน้า แต่ทั้งนี้ประชาชนส่วนมากระบุว่ารับได้ราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากอดีต เพราะเห็นว่าเป็นการปรับขึ้นตามกลไกของราคาตลาด ขณะที่ปริมาณการซื้อสินค้ายังคงมีการบริโภคปกติเท่าเดิม ทั้งนี้ในปี 2558 รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน อยู่ที่ 26,915 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.83% จากปีก่อนหน้า รายจ่ายต่อครัวเรือน อยู่ที่ 21,157 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 11% และหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน อยู่ที่ 156,770 บาทต่อปี

“แม้เงินเฟ้อของไทยจะติดลบ มาตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2558 จากเศรษฐกิจที่ซึมตัว ภัยแล้ง และการเมือง แต่ประชาชนยังคิดว่าของแพงเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย ที่มีรายจ่าย มากกว่ารายรับ ซึ่งกลุ่มนี้จะแก้ไขปัญหาโดยการหันไปกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น”

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายสินค้า ในภาพรวมสินค้าส่วนใหญ่ยังเท่าเดิม มีสินค้าที่ปรับขึ้นสูง ใน 9 รายการ จากการสำรวจ 36 รายการ ได้แก่ เนื้อหมูและไก่,ปลา,อาหารทะเล,ผลไม้,อาหารจานเดียว/อาหารตามสั่ง,ข้าวราดแกง,ก๋วยเตี๋ยว,ปัจจัยทางการเกษตร (ปุ๋ย,อาหารสัตว์,ยา/เคมีกำจัดศัตรูพืช) และค่าเทอม/ค่ากวดวิชา ซึ่งส่วนใหญ่จะกระทบต่อกลุ่มอาชีพเกษตรกร กลุ่มรับจ้างรายวัน พนักงานบริษัทและลูกจ้างทั่วไปซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก จึงประเมินได้ว่าการที่ประชาชนมองว่าของแพง เป็นผลมาจากรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ประชาชน 41.2% ระบุว่า มีรายได้พอดีกับรายจ่าย27.6% ระบุว่ามีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายและ 31.2% ระบุว่า มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งกลุ่มที่มีรายได้ไม่พอใช้ 62% จะหันไปกู้ยืมทั้งในระบบ และนอกระบบ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายแทน หรือจะมีการนำเงินออมมาใช้ หารายได้เสริม และประหยัดค่าใช้จ่าย
สำหรับพฤติกรรมเมื่อระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภค 46.6% จะซื้อของเท่าที่จำเป็น/ซื้ออย่างมีเหตุผล 30.8% ประหยัดมากขึ้น 9.6% ใช้จ่ายน้อยลงโดยลงหรือลดจำนวนในการซื้อลงจากปกติ 6.2% ใช้จ่ายเหมือนเดิม 3.6% เปรียบเทียบความแตกต่างก่อนซื้อ 2.2% เปลี่ยนสถานที่ในการซื้อ/ซื้อที่ถูกกว่า 0.8% ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และอื่นๆ 0.2%

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้จ่าย 26.9% ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลง 23.6% รายได้(ที่ไม่รวมดอกเบี้ย)เปลี่ยนแปลง ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค 19.2% ภาวการณ์จ้างงาน 12% ภาวะการเมือง 8.6% มูลค่าทรัพย์สินที่ครอบครอง 3.7% อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3.3% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1.7% และอื่นๆ 1%

ขณะที่ภัยแล้ง ประชาชนระบุว่าส่งผลกระทบต่อ ต้นทุนการผลิต ปริมาณการผลิต ต้นทุนการหาแหล่งน้ำ รายได้จากการทำการเกษตร หนี้สินของครัวเรือน และการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งประชาชนประมาณ 80.5% ระบุว่าในการแบกรับภาระหรือการรับมือต่อภัยแล้ง ทำได้น้อย หรือทำไม่ได้เลย และในสถานการณ์ภัยแล้งที่จะยืดไปถึงช่วง มิ.ย. 2559 จะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 119,278.37 กระทบต่อจีดีพี 0.85% ซึ่งหอการค้าไทยมองว่า ผลกระทบนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยให้โตต่ำกว่า 3% ดังนั้นรัฐบาลควรมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการเมกะโปรเจกท์ต่างๆ ของรัฐให้เร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 200,000-300,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากกว่า 3%

นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐ และผู้ประกอบการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำให้กับภาคแรงงาน เพื่อเพิ่มรายรับให้สอดคล้องกับรายจ่ายในปัจจุบัน เพราะค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่นิ่งที่ 300 มาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว โดยอาจปรับขึ้นในกรอบ 5-7% หรือจาก 300 บาทต่อวัน เพิ่มเป็น 310-315 บาทต่อวัน แต่ทั้งนี้การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เท่ากันทั่วประเทศ ต้องพิจารณาตามพื้นที่ ค่าครองชีพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น