“จักรยานน้ำบ้านสันต้นแหน” นวัตกรรมต่อยอด จากปลูกผัก สู่การขยับออกกำลังกาย

3.1 หลังจากที่คนในชุมชนบ้านสันต้นแหน   ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่  เริ่มตระหนักถึงปัญหาด้านสารเคมีที่ตกค้างในผักและสะสมในร่างกาย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการซื้อผักมารับประทานในครัวเรือน ได้ร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหา ด้วยการส่งเสริมให้คนในชุมชนทุกครัวเรือนปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินกันเอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จำนวน 70,000 บาท

3.2

นางจันทร์เพ็ญ ไชยเทพ  อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 3 บ้านสันต้นแหน ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด อ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า แนวคิดปลูกผักปลอดสาร  จะทำให้คนในชุมชนได้สุขภาพที่ดีขึ้น ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน  โดยชุมชนเริ่มปลูกผักต่างๆ ภายในบริเวณบ้าน เป็นผักพื้นถิ่นและผักสวนครัว  สำหรับบางหลังคาเรือนที่ไม่มีพื้นที่ ประมาณ 20 ราย ทางแกนนำโครงการฯ ได้ขอใช้พื้นที่ของเอกชน ซึ่งมีพื้นที่ในหมู่บ้าน แต่ถูกทิ้งรกร้าง ยังไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ และในทุกๆปีจะเกิดไฟป่า จึงได้ขอใช้ประโยชน์นำมาพัฒนาเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการปลูกผัก ซึ่งทางเจ้าของที่ดินได้ยินยอมให้ทางชุมชนนำไปใช้ทำเป็นแปลงปลูกผักได้ ทำให้ขณะนี้มีแปลงปลูกผัก โดยผักที่ปลูกได้จะไว้สำหรับแบ่งปัน แลกเปลี่ยน ซื้อขาย และเมื่อชุมชนมีงานก็จะนำผักจากแปลงแห่งนี้ไปประกอบอาหารให้กับชุมชนด้วย

3.3

โดยนายสุภชัย ไชยเทพ   ผู้ใหญ่บ้านสันต้นแหน    ผู้รับผิดชอบโครงการ  เล่าว่า จาก 218 ครัวเรือน เริ่มต้นเข้าร่วมโครงการฯ 100 ครอบครัว และได้มีการขยายเพิ่มเป็น 200 ครัวเรือน นับเป็นร้อยละ 80 ของชุมชนที่ให้ความสำคัญและสนใจมาร่วมลงมือปลูกผักปลอดสาร  ซึ่งหลังจากที่ชุมชนได้ปลูกผักและมีแปลงผักส่วนกลางแล้ว และเดิมชุมชนมีกลุ่มนักปั่นจักรยาน แต่ในช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่มีหมอกควันไฟป่าทำให้การปั่นจักรยานกลางแจ้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้  ประกอบกับในช่วงเวลานั้นมีโครงจักรยานเก่าที่พังใช้การไม่ได้แล้ว จึงนำมาพัฒนาเป็นจักรยานน้ำ เพื่อใช้แรงปั่นดึงน้ำจากบ่อ ส่งไปตามท่อน้ำหยดเพื่อรดน้ำต้นไม้ในแปลง โดยจักรยานน้ำนี้  ใช้ตัวปั้มกระบอกลูกสูบ ซึ่งหาซื้อได้จากร้านขายของเก่า นำมาประกอบเป็นตัวปั๊มน้ำ ทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเรื่องค่าไฟหรือค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้แต่แรงปั่นเท่านั้น ซึ่งกลุ่มนักปั่นจักรยานและกลุ่มผู้สูงอายุจะมาพลัดเปลี่ยนกันปั่นจักรยานน้ำในช่วงเช้า และช่วงเย็นที่เด็กๆในหมู่บ้านหลังเลิกเรียนก็จะมาช่วยปั่นเพื่อรดน้ำผักด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยกันรดน้ำปลูกผักปลอดสารแล้ว ยังช่วยส่งเสริมเรื่องการออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลแม่คือ ในการรับซื้อเศษใบไม้และวัชพืชจากชุมชนกิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อไม่ต้องการให้ชุมชนเผาขยะเผาเศษใบไม้เป็นมลภาวะ และนำเศษใบไม้และเศษวัชพืชนำมาช่วยกันทำเป็นปุ๋ยหมักให้ชาวบ้านนำกลับมาใช้ในแปลงผักได้อีกด้วย

3.4

ซึ่งขณะนี้เมื่อเริ่มดำเนินการมาได้ประมาณ 6 เดือน พบว่าชุมชนมีความตื่นตัวมาก มีแนวคิดในการขยายโรงเรือน เพื่อสำหรับเพาะขยายและแลกเปลี่ยนพันธุ์ผัก    สำหรับความยั่งยืนของโครงการฯนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ชาวชุมชนบ้านสันต้นแหน คงปลูกผักปลอดสารต่อไปอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ได้ของบประมาณจาก สทบ.แห่งชาติ ผ่านกองทุนหมู่บ้าน จำนวน  500,000 บาท เพื่อจัดสร้างตลาดประชารัฐบ้านสันต้นแหน  ให้เป็นตลาดสีเขียวของชุมชนเพื่อให้เป็นจุดซื้อขายแลกเปลี่ยนผักปลอดสารของคนในชุมชนและใกล้เคียง เป็นรายได้เสริมเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น