กระทรวงวิทย์ นำร่อง เปิดตัวโครงการ “NTFV’s Innovation Campaing ที่เชียงใหม่ ก่อนกระจายไปทุกภูมิภาค เร่งส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมระดับภูมิภาคให้กับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย สู่สากล

S__183312389
ที่ห้องบอลรูม 1 โรงแรมแชงกรีล่า จังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “NTFV’s Innovation Campaing” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จัดขึ้น พร้อมทั้งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมในระดับภูมิภาคระหว่าง สนช. และ สป.วท. โดย สอว. ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

 

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีกลไกขับเคลื่อนงานด้าน วทน. สู่จังหวัด ชุมชน ท้องถิ่น อยู่หลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นมีกลไกของ สอว. มีภารกิจหลักในการสนับสนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยเพื่อกระตุ้นการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการฐาน วทน. การพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ และการผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยจะใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ โดยมีมหาวิทยาลัยที่เป็นแกนหลักดำเนินการพัฒนา และดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อให้มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 13 มหาวิทยาลัย กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือมีถึง 7 มหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

 
จากความพร้อมของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับงานด้านการวิจัยและพัฒนา มีกลไกร่วมรับความเสี่ยงในการนำ วทน.ไปใช้ประโยชน์ และศักยภาพของภาคเอกชนในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง จึงมีแนวทางในการยกระดับความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ภาคเหนือด้วย วทน.ในระยะแรกคือ การกระตุ้นพัฒนานวัตกรรมด้วยมาตรการสนับสนุนเงินอุดหนุนในโครงการ NTFV’s Innovation Campaing สำหรับการพัฒนานวัตกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องวงเงินสูงสุดไม่เกิน 800,000 บาทต่อโครงการโดยเอกชนจะต้องลงทุนร่วมด้วยอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าโครงการรวม ผู้เสนอโครงการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของ Northern Thailand Food Valley ทั้งนี้การพิจารณาโครงการจะใช้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนทั้งจาก สอว. สนช. สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ และนักวิชาการ โดยโจทย์สำคัญมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม ที่อาจจะอยู่ในกรอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (อาหารฟังก์ชัน อาหารทางการแพทย์ อาหารอินทรีย์ อาหารที่ผลิตขึ้นใหม่ทางนวัตกรรม) หรือการพัฒนากระบวนการและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายจะสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ภาคเหนืออย่างน้อย 200 ราย ให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นด้วย วทน. เกิดการขับเคลื่อนระบบพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนวัตกรรมอาหารสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอาหาร ในพื้นที่ภาคเหนือมากกว่าร้อยละ 20 ประมาณการมูลค่าเพิ่มกว่า 4,600 ล้านบาท พร้อมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมผู้ประกอบการ SMEs ภาคเหนือรองรับการขยายของ Food lnnopolis พี่อาจมีการขยายผลการขับเคลื่อนไปยังภูมิภาคอื่นๆในอนาคตต่อไป

 
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า โครงการพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรม (Food Innovation Zone; FIZ) เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา “Northern Thailand Food Valley” ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างความสามารถ ด้านนวัตกรรมอาหารในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นและมีศักยภาพของผู้ประกอบการด้านอาหารในรูปแบบเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม เพื่อยกระดับและสร้างให้เกิดความแตกต่างรวมทั้งการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และบริการตลอดห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนการจัดการด้านอาหารปลอดภัย และระบบธุรกิจอัจฉริยะ ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อันจะเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอาหาร สามารถแข่งขันได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย 3 ด้านคือ สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรม และแรงงานระหว่างกันในพื้นที่เป้าหมาย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น จัดการอาหารปลอดภัยโลจิสติกส์ ระบบสาระสนเทศ การวิจัยทางการตลาด การสร้างตราสินค้า และการสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการในพื้นที่เป้าหมายรวมทั้งกระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมอันจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงแนวทางในการพัฒนาธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ ได้แก่ อาหารฟังก์ชัน/อาหารทางการแพทย์/อาหารอินทรีย์ ระบบการจัดการด้านอาหารปลอดภัย รูปแบบการจัดการธุรกิจอัจฉริยะ และเครื่องจักรและกระบวนการผลิตอัตโนมัติ

 
ระยะแรก สนช. ได้ดำเนินโครงการนำร่องในเขตพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน เนื่องจากพบว่ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ มีศักยภาพและความหนาแน่นของผู้ประกอบการด้านอาหารสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีสถานประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 2,260 สถานประกอบการ มีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรประมาณ 500 ล้านตันต่อปี และมีหน่วยงานที่สนับสนุนการสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 150 หน่วยงาน ดังนั้น สนช. จึงร่วมกับ สอว. โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กำหนดมาตรการการสนับสนุนและกิจกรรมการสร้างความสามารถ ด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่ ได้แก่ NTFV’s Innovation Campaing (มาตรการการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของพื้นที่ภาคเหนือ) Innovation Diffusion (มาตรการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อให้เกิดการเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมสู่ระดับชุมชน วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร) และการจัดทำ Demand-side survey (มาตรการการสนับสนุนการสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการนอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน) โดยมุ่งหวังว่าจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงมากให้แก่ท้องถิ่นและพัฒนาให้พื้นที่ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหารของอาเซียนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น