นักเที่ยวเห่อสนามบินอู่ตะเภา

b.7ท่าอากาศยานเชียงใหม่ นำคณะสื่อมวลชนเชียงใหม่มุ่งสู่สนามบินอู่ตะเภา เยี่ยมชมศึกษาข้อมูลการดำเนินงานของท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของปีที่ผ่านมา เผยวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 จะมีการเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับผู้โดยสารที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดตลอดปีสร้างรายได้ 120 ล้านบาทจากเดิม 40 – 45 ล้านบาทเท่านั้น

เมื่อเร็วๆ นี้ น.อ.วิสูธ จันทนา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ นำคณะสื่อมวลชนสู่สนามบินอู่ตะเภา พร้อมการเชื่อมโยงการเดินทางจากภาคเหนือสู่ภาคตะวันออก เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยว การค้า และการขนส่งของประเทศในปัจจุบัน

พล.ร.ต.วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า การพัฒนาของสนามบินอู่ตะเภาตั้งแต่ปี 2509 ก่อสร้างสนามบินเสร็จ มอบให้ ทร.ใช้งาน เป็นที่ตั้งของฝูงบิน ทร. ต่อมาเมื่อปี 2517 ประกาศเป็นสนามบินสำรองของท่าอากาศยานดอนเมือง และปี 2519 ประกาศเป็นสนามบินศุลกากร จากนั้นปี 2532 ประกาศเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ โดยให้ ทร.ร่วมกับ กรมการบินพาณิชย์ ดำเนินการ และปี 2539 ให้ ทร.โดย กองการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นผู้ดำเนินการ ดำเนินการโดยระบบเงินนอกงบประมาณประเภทเงินฝาก ปี 2558 ให้การท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นกองทุนประเภททุนหมุนเวียน ตาม พรบ.ทุนหมุนเวียน และ พรบ.งบประมาณ 2559 จัดสรร งป.ให้การท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นกองทุนหมุนเวียนประเภทไม่เป็นนิติบุคคล

ทั้งนี้ ปัจจุบันที่ตั้งกองการบินทหารเรือ ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ มีฝูงบิน ทร. 9 ฝูงบิน พร้อมหน่วยซ่อม และหน่วยสนับสนุนอากาศนาวี และที่ตั้งหน่วยงานอื่นๆ ของ อาทิ ทร.คลังเชื้อเพลิง พธ.ทร.กองผลิตฯ วศ.ทร. คลังพัสดุ พธ.ทร. การท่าอากาศยานอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมอากาศยานการบินไทย เป็นต้น

จากนั้น มีการพัฒนาการของสนามบินอู่ตะเภา โดยบริหารท่าอากาศยานภายใต้แนวทางการใช้สนามบินร่วม ทหาร – กิจการพาณิชย์ (Joint use airport) ที่นำมาใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ อาทิสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, สเปน, สิงคโปร์, มาเลเซีย เป็นการใช้ความสามารถ และทรัพยากร ร่วมกัน ทำให้ลดต้นทุน โดยดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงร่วมการใช้งานสนามบิน (Airfield Joint Use Agreement) ระหว่าง กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ กับการท่าอากาศยานอู่ตะเภา

และวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 จะมีการเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และผู้ประกอบการสามารถเข้าทดลองระบบภายตัวอาคารได้ในเดือนมิถุนายน และเปิดใช้งานจริงช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2559 และปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภา มีเส้นทางบินสู่ต่างประเทศ 9 เส้นทางอาทิจีน ,สิงคโปร์,กัวลาลัมเปอร์ เป็นต้น และภายในประเทศ 5 เส้นทาง โดยประกอบด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินกานต์แอร์ และสายการบินแอร์เอเชีย สำหรับผลประกอบการในระยะ 4 เดือนของปี 2559 ก้าวกระโดดมาก คือมี 410 เที่ยวบินในประเทศ และ 375 เที่ยวบินต่างประเทศ ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์มีผู้โดยสาร 30,000 คนต่อวัน เดือนมีนาคม มีรายได้ 52 ล้านบาท คาดตลอดปีสร้างรายได้ 120 ล้านบาทจากเดิม 40 – 45 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ แต่ละเที่ยวบินหนาแน่นเฉลี่ย 80 – 90% ซึ่งถือว่าการตอบรับดีมากโดยเฉพาะเส้นทางเชียงใหม่ และหาดใหญ่ เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 300%
ด้าน น.อ.ณรงค์ นิลน้ำเพชร หัวหน้ากองยุทธการฯ กล่าวว่า ในปี 2532 สนามบินอู่ตะเภากลายเป็นสนามบินนานาชาติ 20 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการให้บริการเชิงพาณิชย์ ด้วยศักยภาพทางการท่องเที่ยว สิ่งสำคัญคือเรามี 3 ท่าเรือพาณิชย์ คือ แหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด ในการขนส่งสินค้าทั้งผลไม้ ทั้งทุเรียน และมังคุด อัญมณีที่ดีที่สุดจากจันทบุรี และถือเป็นฮับโลจิสติกส์ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภาแห่งนี้ขึ้นเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน และศูนย์ฝึกงานนักบินและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องทางด้านการบิน Training Center ร่วมกับสถาบันการบินพลเรือนและมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหารแล้ว รอเพียงนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติดำเนินการต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น