เมืองรถม้าพัฒนาคุณภาพผ้าทอ จากเส้นใยสับปะรดเชิงพาณิชย์

b.3อุตสาหกรรมลำปาง จัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพผ้าทอมือจากเส้นใยสับปะรด เตรียมส่งเสริมยกระดับผลิตภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าเฉพาะ เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด พร้อมเตรียมนำเข้าสู่ระบบตลาดเชิงพาณิชย์ซึ่งจะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากเส้นใยสับปะรด ซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญจากการวิจัยในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของจังหวัดลำปาง” ออกมาจัดแสดง เพื่อตอกย้ำความสำเร็จจากผลการดำเนินงานตามโครงการ “พัฒนาคุณภาพยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของจังหวัดลำปาง ด้วยนวัตกรรมเส้นใยสับปะรด” ซึ่งได้มีการออกบูธจัดเป็นนิทรรศการ ให้สาธารณชนได้ร่วมชื่นชมผลงานความสำเร็จ และร่วมรับทราบถึงแนวทางการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ในการประชุมสัมมนาสรุปผลและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการ “พัฒนาคุณภาพยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของจังหวัดลำปาง ด้วยนวัตกรรมเส้นใยสับปะรด”

ซึ่งได้มีการจัดการประชุมสัมมนาขึ้น ที่ห้องประชุมกาสะลอง โรงแรมเวียงลคอร ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีนายสมศักดิ์ หวลกสิน อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ร่วมกันนำเสนอข้อมูลรายละเอียดผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว โดยมีผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนสมาชิกกลุ่มอาชีพผ้าทอพื้นเมืองจากพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดลำปาง และผู้ประกอบการผลิตผ้าทอพื้นเมืองจำหน่าย รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีผลิตเส้นใยสับปะรด เข้าร่วมรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน

นายสมศักดิ์ หวลกสิน อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอฯ ดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนงานการส่งเสริมและพัฒนาจังหวัดลำปาง ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2557 ภายใต้การบูรณาการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอของจังหวัดลำปาง ให้ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการจนถึงสิ้นสุดโครงการ ทางหน่วยงานได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มอาชีพผ้าทอพื้นเมืองในจังหวัดลำปาง ทั้งกว่า 30 กลุ่ม พร้อมได้ทำการพัฒนาสร้างผลผลิตนวัตกรรมใหม่ ด้วยการนำวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรมาใช้ให้เกิดมูลค่า ด้วยการผลิตเป็นเส้นใยธรรมชาติสำหรับนำมาทดลองถักทอเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลความสำเร็จดังกล่าวมีแนวทางในการที่จะส่งเสริมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่ระบบตลาดเชิงพาณิชย์ซึ่งจะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

ด้าน ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำเร็จที่ได้รับจากโครงการฯ ดังกล่าวว่า ทางสถาบันฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพความพร้อมของพื้นที่ จ.ลำปาง ที่มีความเหมาะสมในการเป็นแหล่งผลิตผ้าทอ เนื่องจากมีพร้อมทั้งเรื่องวัตถุดิบ มีกลุ่มอาชีพด้านการถักทอ และการตัดเย็บ สามารถรวมกลุ่มทำเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือได้อย่างครบวงจร โดยมองเห็นว่าการผลิตผ้าทอด้วยเส้นใยสับปะรดน่าจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจาก จ.ลำปาง มีพื้นที่ปลูกสับปะรดจำนวนมาก จึงมีวัตถุดิบอย่างเพียงพอ และตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ในการดำเนินโครงการฯ ได้มีหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดค้นพัฒนาประดิษฐ์เครื่องสางเส้นใยจากใบสับปะรดขึ้น และก็ประสบผลสำเร็จ จ.ลำปาง สามารถสร้างเครื่องสางเส้นใยจากใบสับปะรดได้เอง ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า 700,000 บาท ซึ่งสามารถผลิตเส้นใยที่มีความสม่ำเสมอได้มาตรฐานคุณภาพ และสามารถนำเส้นใยสับปะรดที่ได้ไปปั่นทอ เป็นผ้าผืนใยสับปะรด 100% หรือนำไปปั่นร่วมกับใยฝ้ายผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอได้สำเร็จ และขณะนี้ได้มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้ง เสื้อผ้า กระเป๋า กรอบรูป ที่รองจาน สิ่งของชำร่วยและของที่ระลึกอื่นๆ หลายรายการ

โดยเมื่อหลังสิ้นสุดโครงการ ดร.ชาญชัยฯ ได้กล่าวว่า ในอนาคตทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง จะเป็นหน่วยงานหลักประสานกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ เข้ามาส่งเสริมพัฒนาต่อยอดการผลิตเส้นใยธรรมชาติ จากใบสับปะรดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเผยแพร่ผลิตเครื่องสางเส้นใยสับปะรดให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่ทำการผลิตเส้นใยธรรมชาติจากใบสับปะรดจำหน่าย, ตลอดจนรวมกลุ่มชาวบ้านทอผ้าและย้อมสี ทำการออกแบบลวดลายให้ทันสมัย ถักทอด้วยเทคโนโลยีตกแต่งสำเร็จเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ เช่นการพัฒนาเนื้อผ้าให้มีความอ่อนนุ่ม สีสันสดใส มีกลิ่นหอมต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่จะไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น และจัดหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าผ้าทอจากเส้นใยสับปะรด จะเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดลำปาง ซึ่งจะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และกลุ่มอาชีพทอผ้าได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากเส้นใยสับปะรด กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น