ศึกษาธิการ หารือ ทปอ. ปลดล็อกรับรองปริญญา

5

เมื่อวันที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในการประชุมสามัญ ทปอ. ครั้งที่ 2/2559 โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นพ. อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมหารือ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ ได้แจ้งให้ ทปอ. รับทราบประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวงการอุดมศึกษาในระยะยาว 2 ประเด็น คือ 1.การปลดล็อกการรับรองปริญญา โดยให้สภาสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้อนุมัติ 2.การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการโดยใช้ความรู้ความสามารถที่แท้จริงมากกว่าใบปริญญา

ในประเด็น ปลดล็อกการรับรองปริญญา โดยให้สภาสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้อนุมัติ ไม่ต้องให้ สกอ.เห็นชอบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ทบทวนรายละเอียดเกี่ยวกับการรับรองปริญญา โดยเฉพาะการรับรองปริญญาในการบรรจุเข้ารับราชการของผู้ที่สมัครเป็นข้าราชการ ตลอดจนการสมัครในรูปแบบอื่น เพราะที่ผ่านมาสำนักงาน ก.พ. ให้ สกอ.เป็นผู้รับรองหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา แต่ สกอ.ไม่มีอำนาจหน้าที่ เนื่องจากแนวทางในการบริหารเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ระบุว่าการรับรองหลักสูตรและการรับรองปริญญาเป็นหน้าที่ของสภาสถาบันอุดมศึกษา จึงทำให้มีหลักสูตรที่รอการพิจารณาคั่งค้างอยู่ที่ สกอ. จำนวนมาก และแทนที่สถาบันอุดมศึกษาจะผลิตหลักสูตรแล้วเปิดทำการเรียนการสอนได้ทันที ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องรอการพิจารณารับรองหลักสูตร

อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างระบบและมาตรฐานการสรรหาทรัพยากรบุคคล จึงมีมติให้ทบทวนเกี่ยวกับการรับรองปริญญาว่า เมื่อสภาสถาบันอุดมศึกษาอนุมัติหลักสูตรแล้ว ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้ทันที โดยเพียงแจ้งให้ สกอ. รับทราบเท่านั้น แต่ไม่ต้องรอการพิจารณารับรองหลักสูตรจาก สกอ.

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ และสิ่งที่ดีงามในประเทศ ซึ่ง ทปอ. รับทราบและเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนการรับรองปริญญาดังกล่าว เพราะจะทำให้การบริหารงานต่าง ๆ ของสถาบันอุดมศึกษามีอิสระมากขึ้น
สำหรับข้อดีของการรับรองหลักสูตรในรูปแบบดังกล่าว กล่าวคือ เมื่อสถาบันอุดมศึกษาจะเปิดหลักสูตรที่ทันสมัยมาก ๆ และสภาสถาบันอุดมศึกษาอนุมัติหลักสูตรที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ก็สามารถเปิดหลักสูตรได้โดยความรับผิดชอบจะอยู่ที่สถาบันอุดมศึกษา จากนี้ไปการบริหารหลักสูตรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะ สกอ. จะดูแลภาพรวมของประเทศว่าสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนในหลักสูตรใดบ้าง แต่ไม่ต้องมีหน้าที่ตรวจหลักสูตรซ้ำอีกครั้ง แต่หากมีข้อสงสัยว่าสถาบันอุดมศึกษาใดมีประวัติหรือมีเหตุควรให้เชื่อหรือมีผู้ร้องเรียนว่าไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ สกอ.ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างหนัก เช่นเดียวกับทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมกันตรวจสอบไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น

ส่วนข้อคำถามกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาอาจรวมหัวกับสภาสถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานนั้น สกอ.จะมีเวลาในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อรับรองหลักสูตรกว่า 1,000 หลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ แล้ว จึงทำให้ สกอ. มีเวลาไปเพ่งเล็งกับผู้ที่เกเรหรือไล่จับคนที่สร้างปัญหาเหล่านี้ได้เร็วขึ้น

อีกทั้งสถาบันอุดมศึกษาใดที่เปิดหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายตามกฎหมายด้วย โดยการพิจารณาโทษจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และรายละเอียดต่าง ๆ และจะไม่โยงเรื่องดังกล่าวมาที่ สกอ. แล้ว เพราะสภาสถาบันอุดมศึกษาต้องรับผิดชอบหลักสูตรที่เปิดสอนเต็มที่อยู่แล้ว

นอกจากนี้ นักเรียนที่จะสมัครเข้าเรียนในสาขาต่าง ๆ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากหลักสูตรที่สภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นรับรอง ซึ่งจะแก้ปัญหาไม่ให้เด็กเป็นตัวประกันในการพิจารณารับรองหลักสูตรอีกต่อไป
ส่วนกรณีแนวคิดการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการโดยใช้ความรู้ความสามารถที่แท้จริง มากกว่าใบปริญญานั้น ในปัจจุบันเกิดปัญหานักเรียนนักศึกษาจำนวนมากเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาในสาขาที่ไม่จำเป็น เมื่อจบการศึกษาแล้วจึงไม่มีงานทำ อีกทั้งการกำหนดเงินเดือนของสำนักงาน ก.พ. หรือการสรรหาบุคคลเข้าทำงานในปัจจุบันนี้ พิจารณาตามปริญญา ทำให้เกิดการบ้าปริญญาแทนที่จะดูความสามารถ โดยวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการบ้าปริญญาได้ คือ การพิจารณาที่ความสามารถ ด้วยการทดสอบและการวัดทักษะในการปฏิบัติงานซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์โดยสำนักงาน ก.พ.

ทั้งนี้ เป็นการตัดสินใจของสำนักงาน ก.พ. ที่จะเปลี่ยนแนวคิดของการให้ความสนใจในปริญญาอย่างเดียว มาพิจารณาที่ความสามารถ เพื่อกำหนดอัตราเงินเดือนซึ่งจะเชื่อมโยงกับความสามารถ ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้สมัครงานที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์แต่ไม่ได้จบปริญญาด้านคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อวัดความสามารถและทักษะด้านคอมพิวเตอร์แล้วมีทักษะในระดับที่สามารถปฏิบัติงานได้ บุคคลผู้นี้จะสามารถเข้าทำงานในสถานที่ที่สำนักงาน ก.พ. รับรองได้

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.พ. ไม่ได้ปฏิเสธผู้ที่สมัครเข้าทำงานตามวุฒิการศึกษา เพียงแต่จะไม่มุ่งพิจารณารับคนเข้าทำงานจากใบปริญญาเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาที่ความสามารถด้วย ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประเทศจะได้คนที่มีฝีมือเข้ามาทำงานมากกว่าพิจารณาว่าจบการศึกษาสาขาใดเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ภาคเอกชนดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานตามแนวทางนี้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ก.พ.จะนำแนวคิดนี้ไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

….กระทรวงศึกษาธิการ / ข้อมูล….

ร่วมแสดงความคิดเห็น