ม.แม่โจ้ หนุนมะม่วงนำดอกไม้สีทอง ชูคุณภาพมาตรฐานการส่งออก

สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้พร้อมเปิดตัวสู่วงการตลาดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของแม่โจ้ ชูคุณภาพระดับมาตรฐานการส่งออก IFOAM เกรด AAA เผยมูลค่าการส่งออกมะม่วงของเครือข่ายเกษตรกรมีถึง 120 ล้านบาท/ปี ชี้มะม่วงเป็นไม้ผลที่ทนแล้ง สามารถที่จะปลูกได้แม้ในสภาวะน้ำน้อย หากมีการจัดการระบบการปลูกที่ดี สามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรได้

image

รศ.ดร.ศิริพร กิรติกาลกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ม.แม่โจ้ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับสนองโครงการพระราชดำริพื้นที่บ้านโปงให้ร่วมกับชุมชนดูแลผืนป่า รวมทั้งคุณค่าวัฒนธรรมให้สืบสานไปสู่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของพื้นที่สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านโปง อำเภอสันทราย เป็นพื้นที่ซึ่งได้มีพระมหากษัตริย์ 3 ยุค 3 พระองค์เสด็จมาเยี่ยมเยือน ได้แก่ พระนเรศวรมหาราช พระยากือนาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเสด็จวัดดอยแท่นพระผาหลวงและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงเป็นที่มาของมะม่วง3ยุคของวิวัฒนาการมะม่วงและ3ยุคของ3กษัตราที่เสด็จมาประทับรอยพระบาท ณ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
รศ.ดร.ศิริพร กิรติกาลกุล

รศ.ดร.ศิริพร กล่าวต่อว่า สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีการจัดการเผยแพร่องค์ความรู้ทางการเกษตร จัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด และการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของแม่โจ้ ซึ่งเป็นการปลูกด้วยระบบเกษตรที่ได้มาตรฐาน IFOAM และทำแบบปราณีตทุกขั้นตอน คุณภาพมะม่วงที่ได้จึงดีมาก ทั้งรสชาติหวานหอม ขนาดผลใหญ่และสีผิวมะม่วงเหลืองทองสวยมาก ทาง ม.แม่โจ้ จึงอยากสร้างตลาดโดยการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักแก่ตลาดในประเทศให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันได้ทำมะม่วงเพื่อส่งออกต่างประเทศโดยมีเครือข่ายเกษตรที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมูลค่าการส่งออกมะม่วงของเครือข่ายเกษตรกรนั้นมีถึง 120 ล้านบาท/ปี เพราะมะม่วงเป็นไม้ผลที่ทนแล้ง สามารถที่จะปลูกได้แม้ในสภาวะน้ำน้อย ถ้าหากมีการจัดการระบบการปลูกที่ดีอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรได้

รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ม.แม่โจ้ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่สำคัญของการปลูกมะม่วง ซึ่งในปัจจุบันมะม่วงก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากมีความทนทานต่อสภาพอากาศแล้ง เมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่นๆ ซึ่ง ม.แม่โจ้ เป็นต้นแบบของการจัดทำการเกษตรในเรื่องของไม้ผล โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกไม้ผลมะม่วงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะม่วงเพื่อการส่งออก ในระบ GAP และระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการสร้างอาชีพในสภาวะวิกฤตภัยแล้ง และเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถเข้ามาศึกษาเป็นต้นแบบของการนำมะม่วงมาทำการผลิตในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงมหาชนก เป็นต้น ทาง ม.แม่โจ้ เองก็มีความพร้อมที่จะจัดองค์ความรู้เหล่านี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวของ ส่งเสริมให้มะม่วงเป็นพืชที่ช่วยสร้างอาชีพต่อไป

image

ในปัจจุปันมีเกษตรกรที่เข้ามาร่วมในเครือข่ายประมาณ 1,000 กว่าราย และทาง ม.แม่โจ้ ได้สร้างพื้นที่การผลิตมะม่วงที่สำคัญ อยู่ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพร้าวโมเดลของการผลิตมะม่วงส่งออกที่สำคัญของประเทศ ซึ่งตลาดหลักส่งออกในขณะนี้มีหลายประเทศ ที่มากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ทั้งนี้ตลาดมะม่วงยังคงเปิดกว้าง และยังสามารถที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้ นอกจากนี้ตลาดออแกนิคก็เป็นอีกตลากหนึ่งที่สำคัญทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้ามาดูงานได้ที่สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร . 0 5387 3071-3

ร่วมแสดงความคิดเห็น