ธอส.จับมือ 3 เหล่าทัพ ปล่อยกู้และซ่อมบ้าน

b.7ธอส. เร่งขยายฐานลูกค้า กลุ่มสินเชื่อสวัสดิการ ล่าสุดเตรียมจับมือ 3 เหล่าทัพ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นปล่อยกู้ซื้อ และซ่อมแซมบ้าน ดอกเบี้ยพิเศษ เผยเตรียมรุกลูกค้าระดับบน เป้าหมายแรกกลุ่มซื้อบ้านราคาเกิน3 ล้านบาท หวังรักษาส่วนแบ่งการตลาด โชว์ไตรมาสแรกกำไร 2.5 พันล้าน ขณะที่โคงการบ้านประชารัฐมั่นใจทำได้ตามเป้า พร้อมผุดโครงการ “คลินิก ธอส.เพื่อบ้าน เพื่อประชาชน” ลดความเสี่ยงหนี้เสีย

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะขยายพอร์ตสินเชื่อคงค้างให้ได้เกิน 1 ล้านล้านบาท ภายใน 1-2 ปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาท โดยแนวทางการทำงาน คือ การเพิ่มฐานลูกค้าของธนาคารให้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อสวัสดิการ ซึ่งล่าสุดได้หารือกับผู้นำเหล่าทัพ ทั้ง 3 เหล่าทัพเพื่อปล่อยกู้ให้กับของกำลังพลของทั้ง 3 เหล่าทัพได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ ระดับชั้นประทวนรวมทั้งข้าราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อปท.) โดยจะปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหลังแรก หรือซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่นเดียวกับโครงการบ้าน ธอส.-กบข. เพื่อที่อยู่อาศัยข้าราชการและโครงการสวัสดิการกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อกลุ่มนี้ ธอส.คิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็นอาร์อาร์) เริ่มตั้งแต่ลบ 1-0.50% แล้วแต่กรณี โดยในช่วงที่ผ่านมา ธอส.ปล่อยกู้ไปแล้ว 520,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อทั้งหมด 870,000 ล้านบาท หรือมากกว่า 60%

“คาดว่าเร็วๆ นี้ จะลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นMOU กับผู้นำทั้ง 3 เหล่าทัพได้ วงเงินที่ใช้เบื้องต้นน่าจะอยู่ที่ 5 พันล้านบาท และหลังจากนี้จะมองหาลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ของสินเชื่อสวัสดิการต่อไป เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพราะนอกจากจะมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว ยังสามารถเจรจากับต้นสังกัดให้หักเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระสินเชื่อได้ด้วย”

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายเพิ่มวงปล่อยกู้บ้านที่มีมูลค่าตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไปอีกด้วย โดยลูกค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ พนักงานและลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีอยู่เกือบ 1 พันบริษัท เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ซึ่งปัจจุบัน ธอส.มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 27% ถือเป็นเจ้าตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์แต่อัตราการปล่อยกู้เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 700,000-800,000 บาท ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปปล่อยกู้เฉลี่ยรายละ 2-3 ล้านบาท ดังนั้น การปล่อยวงเงินปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้นจะให้ ธอส.สามารถรักษามาร์เก็ตแชร์และเพิ่มรายได้จากดอกเบี้ยรับลูกค้ารายใหญ่ได้มากขึ้น

ส่วนโครงการบ้านประชารัฐที่ธนาคารรับผิดชอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท จะปล่อยกู้ได้หมดภายใน 3 เดือนข้างหน้าและหากความต้องการของประชาชนยังมีอยู่ อย่างต่อเนื่อง ก็จะเสนอกระทรวงการคลังเพิ่มวงเงินอีก 10,000-20,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่เปิดตัวโครงการ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. จนถึงวันที่ 20 เม.ย. 2559 มีจำนวนลูกค้าติดต่อสอบถาม และแจ้งความประสงค์ยื่นคำขอกู้เข้ามาแล้ว 26,173 ราย คิดเป็นวงเงินกู้ 21,594 ล้านบาท ซึ่งจำนวนธนาคารได้ตรวจสอบเอกสารและหลักฐานต่างๆ เรียบร้อยแล้ว 1,903 ราย คิดเป็นวงเงินกู้ 1,681 ล้านบาทและล่าสุดได้อนุมติสินเชื่อไปแล้ว 413 ล้านบาท

“โครงบ้านประชารัฐยังคงเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีความล่าช้าอยู่บ้างเพราะประชาชนที่ติดต่อกับธนาคารส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อยวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท และมากกว่า 80% เพิ่งกู้เงินกับธนาคารเป็นครั้งแรกทำให้เกิดปัญหาทาง ด้านเอกสารทางการเงิน เนื่องจากคนเหล่านี้ ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำไม่มีสลิปเงินเดือน บางรายไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากหรือไม่มีเงินฝากเลยก็มี ทำให้สิ่งที่ต่างๆ เหล่านี้เป็นอุปสรรคในพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร”นายสุรชัยกล่าว

ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น ธอส.ได้ออกโครงการ“คลินิก ธอส.เพื่อบ้าน เพื่อประชาชน” เพื่อเป็นหน่วยงานพิเศษในการให้คำแนะนำและเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น ทำให้การอนุมัติสินเชื่อในโครงการบ้านประชารัฐจากนี้ไปจะค่อยๆ มียอดอนุมัติสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เช่น แนะนำให้เปิดสมุดบัญชีเงินฝากแบบสะสมทรัพย์เพื่อซื้อที่อาศัย เป็นต้น

ด้านนางไลวรรณ ปองเสงี่ยม รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธอส. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2559) ว่า ไตรมาสแรก ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 37,723 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19.20% มีกำไรสุทธิ 2,568 ล้านบาทโดยสินเชื่อคงค้าง 878,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.80% สินทรัพย์รวม 939,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.38% เงินฝากรวม 765,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.39% โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 49,992 ล้านบาท คิดเป็น 5.69% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ณ สิ้นปี 2558 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.45% ของสินเชื่อรวม

“อัตราการขยายตัวของสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20% ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล เมื่อปลายปีที่แล้ว และกำลังจะหมดอายุในวันที่ 28เม.ย.นี้ ในเรื่องของการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ0.01% และลดค่าธรรมเนียมการ จดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ขณะที่ ผู้ประกอบการต่างจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้ประชาชนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย”

ส่วนเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นนั้น สาเหตุหลักมาจากลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงเดือนก.พ. แต่ขณะนี้ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว จึงมั่นใจตลอดทั้งปีนี้ เอ็นพีแอลจะอยู่ที่ระดับ 5.45% และมั่นใจว่า ปีนี้ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่กำหนด 165,319 ล้านบาท อย่างแน่นอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น