ทีมวิจัย มช.สุดเจ๋ง คิดค้น’ว่านสี่ทิศ’พันธุ์ใหม่ ทนโรค-ลดใช้สารเคมี คว้ารางวัลระดับนานาชาติ

ทีมวิจัย มช.เจ๋ง คินค้นว่านสี่ทิศพันธุ์ใหม่ ทนต่อโรค และลดการใช้สารเคมี จนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองแดงจากสมาพันธรัฐสวิส และรางวัลสเปเชียลอวอร์ดจากโปแลนด์ได้สำเร็จ พร้อมเตรียมจดทะเบียนให้เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง

1
เมื่อวันที่ผ่านมา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำการวิจัยจนได้ว่านสี่ทิศพันธุ์ใหม่ และชีวภัณฑ์ สำหรับการส่งเสริมการเจริญเติบโต และการควบคุมโรคทางดินได้สำเร็จ จนได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จาก International Des Inventions De Geneve Salon และรางวัลรางวัลสเปเชียล อวอร์ด จาก Association of Polish Inventors and Rationalizers จากการเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและการประกวดสิ่งประดิษฐ์ภายในงาน “44th International Exhibition and Invention of Geneva 2016” ณ สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน ที่ผ่านมา

4
รองศาสตราจารย์ ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า สำหรับการวิจัยเรื่องว่านสี่ทิศจนได้สายพันธุ์ใหม่ที่มีความแข็งแรงทนต่อโรคนั้น งานวิจัยเรื่องนี้ได้ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อังสนา อัครพิศาล หัวหน้าภาควิชา กีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทีมวิจัย คือ ดร.ชัยอาทิตย์ อิ่นคำ นางรำจวน กิจค้า นายโชคชัย รัตนบุรี และนายประสงค์ โยรภัตร โดยเห็นว่าปัจจุบันนั้นดอกไม้ประดับในประเทศไทย แม้จะมีการปลูกกันได้ แต่ก็มีการนำเข้าของหัวพันธุ์และดอกจากต่างประเทศ ปีละกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีรายได้ออกนอกประเทศจำนวนมาก
ทางทีมวิจัย จึงได้ค้นหาสายพันธุ์ของไม้ดอกที่มีความสวยงาม และน่าจะเป็นการสร้างสายพันธุ์ใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้ในอนาคตได้ ต่อมาจึงได้เลือก “ว่านสี่ทิศ” นำมาเป็นตัวเลือกในการวิจัยซึ่งเป็นไม้ดอกประเภทหัวแบบบัลบ์ (bulb) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบแถบตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกา แพร่กระจายจากเม็กซิโกถึงชิลีและอาร์เจนตินา และอีกกลุ่มหนึ่งมีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกาใต้ เป็นไม้ดอกประเภทหัวที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงคริสต์มาส เพราะมีดอกที่ใหญ่โต สวยงาม ซึ่งปัจจุบันประเทศก็มีการปลูกกันในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว และใน จ.กาญจนบุรี ในการปลูกว่านสี่ทิศ มักพบโรคที่รบกวนพืชเสมอได้แก่ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสแม้จะไม่ทำให้ดอกเสียหาย แต่จะทำให้ใบด่าง และโรคที่เกิดจากเชื้อราด้วย

2
ประกอบกับโครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์และการผลิตว่านสี่ทิศเป็นการค้า เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริษัท คีโบล์ ประเทศเนเธอแลนด์ และ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างลูกผสมใหม่ให้มีลักษณะตามความต้องการของตลาด และปัจจุบันว่านสี่ทิศที่พบเห็นจะมีขนาดดอกใหญ่ และมีสีขาว ชมพู และแดง เป็นต้น ซึ่งทางคณะนักวิจัยได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ ใช้วิธีแบบดั้งเดิม (conventional breeding) โดยการผสมเกสร ในการผสมพันธุ์ ต้องตัดเกสรเพศผู้ออกจากดอกที่จะใช้ทำแม่พันธุ์ก่อนการผสมประมาณ 2-3 วัน ต่อจากนั้นนำละอองเรณูของเกสรเพศผู้ต้นที่ใช้เป็นพ่อพันธุ์มาแตะบริเวณเกสรเพศเมีย เสร็จแล้วคลุมถุงกระดาษ บันทึกวันที่ผสม และบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้เทคนิค embryo rescue ช่วยในกรณีที่เกิดการฝ่อของเมล็ดลูกผสม วัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ดอกที่มีขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก เหมาะสำหรับการทำเป็นไม้ดอกกระถาง และใช้เป็นไม้ตัดดอกเพื่อปักแจกัน ซึ่งเป็นแนวใหม่ของการใช้ประโยชน์จากไม้ดอกชนิดนี้ ซึ่งหลังจากทำการทดลองและวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี ก็ประสบความสำเร็จ เพราะได้ว่านสี่ทิศพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น และเป็นของคนไทยเอง เนื่องจากว่านสี่ทิศพันธุ์ใหม่ นี้ จะมี 2 ขนาด ได้แก่ ดอกขนาดกลาง และขนาดเล็ก เหมาะสำหรับใช้ทำเป็นไม้ตัดดอก และ ไม้กระถาง มีรูปทรงดอกสวยแปลกตา สีสันแตกต่างจากพันธุ์เดิมที่มีอยู่ในตลาดไม้ดอกปัจจุบัน เพราะมีสีส้ม น้ำตาล เขียว และมีลายแฟนซี ซึ่งถือว่าตรงกับแนวทางที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกของการเริ่มวิจัย และการปลูกก็ไม่ได้แตกต่างจากการปลูกแบบเดิม เพียงแค่นำหัวพันธุ์ของว่านสี่ทิศพันธุ์ใหม่นี้ ไปคลุกกับจุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ ทำให้ทนทานต่อโรค ที่ทางทีมวิจัยได้ศึกษาและค้นคว้าขึ้นมา ก่อนทำการปลูกเท่านั้น ซึ่งนอกจากทนต่อโรคแล้วยังเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกติอีกด้วย ซึ่งหลังการปลูกภายใน 45 วัน ก็จะได้ออกดอกตามปกติ

3
ต่อมาในห้วงระหว่างวันที่ 13 – 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางคณะผู้วิจัยจึงได้นำผลงานวิจัยนี้ไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการและการประกวดสิ่งประดิษฐ์ภายในงาน“44th International Exhibition and Invention of Geneva 2016” ณ สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งก็สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองแดง จากผลงานวิจัยมาได้สำเร็จ และอีกรางวัลหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือ รางวัลสเปเชียล อวอร์ด ที่ได้รับจากประเทศโปแลนด์ด้วย ซึ่งทางประเทศโปแลนด์ได้ให้ความสนใจในงานวิจัยครั้งนี้ และได้มอบรางวัลดังกล่าวให้ จึงทำให้ได้รับสองรางวัลจากการเข้าร่วมงานดังกล่าว เพราะถือเป็นพันธุ์ใหม่ของไม้ดอกประเภทหัวที่มีความสวยงาม ทนทาน สามารถนำไปต่อยอดทางด้านการตลาด ด้วยการส่งเสริมการปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ หรือการปลูกเพื่อจำหน่ายหัวพันธุ์ส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไทยได้ และที่สำคัญคือยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีด้วย และเตรียมจดทะเบียนเพื่อยืนยันว่าเป็นพันธุ์ของคนไทยอย่างแท้จริงก่อนนำเผยแพร่ให้ประชาชนและผู้สนใจได้นำไปต่อยอดทางธุรกิจต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น