เชียงใหม่จัดมหกรรมอาหารป่าสร้างการมีส่วนร่วมการดูแลป่า

 

มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจัดงาน มหกรรม อาหารรักษ์ป่า เพื่อสร้างความตระหนักต่อผู้บริโภคในเมืองเชียงใหม่ ให้เข้าใจในเรื่องการมีส่วนร่วมดูแลป่า สนับสนุนให้เกิดช่องทางตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างรายได้ทดแทนรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่ก่อให้เกิดปัญหา สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ

2758

วันที่ 8 พ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานที่ลานก้ามปู โครงการจริงใจ มาร์เก็ต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายต้านโลกร้อน สมาคมศูนย์ร่วมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย-IMPECT, หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย-CCT, มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และเชฟน้อย กินเปลี่ยนโลก จัดมหกรรมอาหารรักษ์ป่าขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อผู้บริโภคในเมืองเชียงใหม่ ในการดูแลรักษาป่า และสนับสนุนให้เกิดช่องทางตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างรายได้ทดแทนรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่ก่อให้เกิดปัญหา สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาหมอกควันและการชะล้างพังทลายของดินบนพื้นที่สูง

2756

โดยงานดังกล่าว จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7- 8 พฤษภาคม 2559 ภายในงาน มีการจัดทำ สาธิต ให้ชิมเมนูอาหารที่ทำจากข้าวดอย อาหารบุฟเฟต์ ราคาประหยัด ที่ทำจากพืชผักและเนื้อสัตว์ท้องถิ่นที่ผลิตจากพื้นที่สูง โดยฝีมือแม่ครัวจากชุมชนในเมือง แม่ครัวโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และทีมงานเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก การสาธิตการทำอาหาร เมนูหลากหลายจากข้าวดอย ข้าวพันธุ์ท้องถิ่น ที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว ทั้งความนุ่ม หอม และหลากหลายสีสัน สาธิตการทำน้ำพริกสูตรต่างๆ จาก พริกกะเหรี่ยง และน้ำพริกหลากหลายชนิดจากกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง การแสดงดนตรีโฟล์คซอง และดนตรีพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ม้ง กะเหรี่ยง อาข่า ฯลฯ ในงานมีการแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ภาพเขียน และเรื่องเล่าจากผู้หญิงต้นน้ำ ร้านขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากผู้หญิงต้นน้ำ ทั้งอาหารท้องถิ่น พืชผัก สมุนไพร ของหากินยาก ผ้าภูมิปัญญาหลากหลายชนเผ่า งานจักสาน จากดอยสูง จำหน่ายและให้ชิมกาแฟจากดอยสูง ซึ่งเป็นกาแฟสดคั่วบดใหม่ จากผู้ปลูกถึงมือคน จากดอยม่อนล้าน ดอยอินทนนท์ ดอยม่อนจอง ดอยภูแว-ภูพยัคฆ์ ฯลฯ และ ร่วมฟังเวทีเสวนาการสนับสนุนกลุ่มอาชีพสตรีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต้นน้ำ

2761
ด้านนางศรินทิพย์ พรหมฤทธิ ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าวว่า ในช่วงระยะ 5 – 7 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติค่อยๆ ลดลง โดยมีสาเหตุมาจาก ความสมบูรณ์ของพื้นที่ต้นน้ำลดลง เพราะพื้นที่สูงกลายเป็นแหล่งผลิตพืชผักเศรษฐกิจสำคัญหลากหลายชนิด ทั้งกะหล่ำ หอมแดง มะเขือเทศ พริก และข้าวโพด การผลิตพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ใช้ระบบกู้ยืมปัจจัยการผลิตทั้งหมด ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยง ไม่ว่าจะปัญหาโรคแมลง สภาพอากาศ หรือราคาตลาดที่ผันผวน ที่ผ่านมาเกษตรกร ตกอยู่ในภาวะหนี้สินเพิ่มพูนและนำไปสู่การเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อหาเงินใช้หนี้ จากการที่มูลนิธิรักษ์ไทยได้เข้าไปส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรบนพื้นที่สูง ให้เป็นเกษตรที่พึ่งพาเงินทุนและปัจจัยภายนอกต่ำ พร้อมกับพัฒนาระบบ เกษตรที่ใช้น้ำน้อยรับมือกับภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ผลผลิตที่ได้ อาทิ ข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง พืชผัก หมูดอย เป็นต้น แต่ปัญหาคือ ผลผลิตจากระบบเกษตรที่อิงกับฐานทรัพยากรนั้นไม่มีระบบตลาดรองรับ การจัดงานดังกล่าวจึงเป็นการสร้างตลาดและเชื่อมโยงชุมชนกับตลาด เพื่อให้การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บนพื้นที่สูงสามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลดีต่อความสมบูรณ์และยั่งยืนของทรัพยากรบนพื้นที่ต้นน้ำเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อธรรมชาติและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์และปลอดภัยของน้ำ อากาศที่ ปราศจากหมอกควันจากการเผากำจัดวัชพืช และพืชอาหารที่ปลอดภัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น