9 พฤษภาคม วันพืชมงคล เริ่มต้นสู่ฤดูกาลเพาะปลูก

2.jpgปีพุทธศักราช 2559 นี้ ปฏิทินหลวงกำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธี 2พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ เป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคล และถือเป็น ‘วันเกษตรกร’ ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม 2559ที่ผ่านมา

ในการนี้ เวลาประมาณ 16.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชพิธีพืชมงคล ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิม พระราชทานพระธำมรงค์กับพระแสงปฏักแก่ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับวันนี้( วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2559 )จะมีการประกอบพระราชพิธี จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ฤกษ์ไถหว่านระหว่างเวลา 08.29 – 09.09 น.
3.jpgโดยก่อนเริ่มเคลื่อนขบวนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระยาแรกนาขวัญจุดธูปเทียน ถวายสักการะเทวรูปสำคัญแล้วจะได้ตั้งสัตยาอธิษฐาน

ในการหยิบผ้านุ่ง ก็จะมีการทำนายผลตามที่พระยาแรกนาขวัญหยิบ คือ ถ้าหยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์และผลาหาร(ลูกไม้) มังสาหาร(เนื้อสัตว์) จะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายไม่ได้ผลเต็มที่

หลังจากทำการ เสี่ยงทายผ้านุ่งแล้ว ก็จะเริ่มเคลื่อนขบวนประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยพระยาแรกนาจับหางคันไถด้วยมือข้างหนี่ง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งก็จะถือพระแสงปฏัก เดินไถดะ เป็นจำนวนทั้งหมด 3 รอบ ในระหว่างนั้นราชบัณฑิตจะพรมน้ำพระพุทธมนต์ลงบนพื้นดิน ในรอบที่ 4 พระยาแรกนาจะเริ่มหว่านเมล็ดข้าวจนครบ 3รอบ ต่อจากนั้นจะทำการไถกลบอีก 3 รอบ รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 9 รอบ พนักงานปลดแอกออกจากพระโค พระยาแรกนา พร้อมเทพี กลับไปโรงพิธีพราหมณ์ หลังจากนั้นจะเป็นพิธีตั้งเลี้ยงพระโค โดยจะเสี่ยงทาย ของกิน 7 สิ่ง อันได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าโคกินสิ่งใด โหรหลวงก็จะทำนาย ตามที่พระโคกิน คือ

คำทำนายวันพืชมงคลของพระยาโค
ถ้ากินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร (ข้าว) ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
ถ้ากินถั่วหรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร(อาหารที่กินประจำ) จะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้ากินน้ำหรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้ากินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญเกษตรกรให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก

1.jpg
โดยเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้สืบทอดมายาวนานตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และได้มีการจัดงานเต็มรูปแบบ ตามประเพณีครั้งสุดท้ายในปี 2479แล้วว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็น “วันเกษตรกร”ประจำปีด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรร่วมกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ

นอกจากนี้ ในงานพระราชพิธีฯ ยังมีการมอบรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่าง ๆ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ที่ผ่านการคัดเลือกพร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น