แบกโฮเปิดร่องขุดเชื่อมวังน้ำแม่ปิง แผนเฉพาะหน้าช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤติแล้ง

ชลประทานเปิดปฏิบัติการเชื่อมวังน้ำ ส่งแบคโฮลงจอมทองเปิดร่องชักน้ำ เพื่อให้น้ำที่ไหลในชั้นทรายได้มีทางไปต่อ หวังเชื่อม 3 วังน้ำเข้าเป็นหนึ่งเพื่อบรรเทาแล้งช่วงท้ายน้ำ ถัดจากฝายวังปานไร้กังวลเพราะมีแม่น้ำสาขามาช่วยเสริม เผยมี 5 สถานีสูบน้ำยังวิกฤติหนัก ชงจังหวัดประสานศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง ส่งเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกลลงพื้นที่ช่วยเหลือแล้ว

3
วันที่ 9 พ.ค.59 ที่สถานีสูบน้ำประปา สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคสาขาจอมทอง จ.เชียงใหม่ นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นำ “เชียงใหม่นิวส์” ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพแม่น้ำปิงซึ่งปรากฏผ่านเป็นภาพตามสื่อสารมวลชนแสดงให้เห็นชัดถึงความแห้งแล้ง โดยแทบไม่มีสภาพความเป็นแม่น้ำให้เห็น โดยมีผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาจอมทอง และผู้นำท้องที่ในพื้นที่ร่วมประชุมวงเล็กเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขเพื่อบรรเทาวิกฤติน้ำแล้งในช่วงดังกล่าว

 
นายจานุวัตรฯ กล่าวว่า จากภาพที่ปรากฏตามสื่อนั้น เป็นภาพที่ถ่ายจากที่สูงบนเฮลิคอปเตอร์ จะเห็นเป็นภาพแม่น้ำปิงแห้งสนิทไม่มีน้ำไหลเลยในช่วงพื้นที่ อ.จอมทอง จนเห็นตะกอนทรายเต็มลำน้ำแม่ปิงได้อย่างชัดเจน ซึ่งโดยความเป็นจริงอย่างที่แจ้งให้ทราบไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในลำน้ำปิงยังมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา แต่ช่วง อ.จอมทอง ตามภาพที่ปรากฏนั้นน้ำที่ไหลจะเป็นการไหลผ่านในชั้นทราย เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำไม่มีปริมาณน้ำมากเพียงพอที่จะส่งน้ำมาถึงพื้นที่ อ.จอมทอง ได้ น้ำที่ส่งในแต่ละรอบเวรจากเขื่อนแม่งัดฯ ส่งมาได้แค่พื้นที่ อ.ดอยหล่อ เท่านั้น

gh
“น้ำที่ไหลในชั้นทรายนั้นด้านหนึ่งเป็นเรื่องดีที่จะตัดเรื่องการระเหยไปได้ ในสภาพอากาศที่ร้อนจนถึง 40 องศาเซลเซียส แบบนี้ น้ำสามารถระเหยได้มากถึง 1 เซนติเมตร และด้วยปัจจัยของศักยภาพของท้องน้ำปิงในพื้นที่ อ.จอมทอง ที่มีสภาพเป็นแอ่งเป็นเวิ้งน้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า วัง ที่มีขนาดใหญ่ๆ มีด้วยกัน 3 วัง ตั้งแต่วังหม้อ วังมุ่น และวังสะแกง โดยทั้ง 3 วังที่ว่านี้อยู่เหนือฝายวังปาน เป็นแอ่งกักน้ำที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสูบน้ำไปใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่เพื่อประทังก่อนจะเข้าฤดูฝนนี้ไปได้” ผอ.ชป.1 เชียงใหม่ กล่าว

 
“การบริหารจัดการในช่วงพื้นที่นี้ สำนักชลประทานเชียงใหม่ได้ส่งรถแบคโฮลงพื้นที่แล้วเพื่อทำการเปิดทรายในลำน้ำปิงออกเป็นร่องเพื่อเชื่อมระหว่างวังต่างๆ ที่มีอยู่เข้าด้วยกัน อย่างเช่นจากวังหม้อซึ่งอยู่เหนือสุดของช่วงนี้จะขุดพื้นทรายออกเป็นร่องกว้างประมาณ 3 เมตร ลึก 2 เมตร ในระยะ 50 เมตร เพื่อชักน้ำจากวังหม้อมาช่วยเติมที่วังมุ่น และเปิดหน้าทรายเป็นร่องเช่นกันจากวังมุ่นอีกราว 20 เมตร มาเชื่อมกับร่องที่มีชาวบ้านทำไว้แล้วมาบริเวณสะพานวังสะแกงซึ่งมีแอ่งน้ำเล็กๆ สำหรับช่วงการประปาส่วนภูมิภาคสาขาจอมทอง และประปาท้องถิ่นในพื้นที่บ้านวังสะแกงของลำพูนซึ่งอยู่คนละฝั่งกับจอมทอง เมื่อเชื่อได้เสร็จก็จะสามารถช่วยบรรเทาน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาของทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำปิงในช่วงนี้ได้” นายจานุวัฒตฯ แจง

 
ผอ.ชป.1 เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่พบว่า เครื่องจักรแบคโฮของสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กำลังขุดเปิดพื้นที่ทรายเพื่อทำร่องชักน้ำให้เชื่อมระหว่างฝั่งบ้านวังสะแกง จ.ลำพูน และฝั่งตำบลข่วงเปา อ.จอมทอง เชียงใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงให้กับน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาของทั้ง 2 พื้นที่เชียงใหม่และลำพูน และถัดจากจุดนี้สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ วางแผนที่จะเปิดพื้นทรายเป็นร่องชักน้ำเพื่อเชื่อมไปยังร่องน้ำที่ชาวบ้านขุดไว้เดิมไปยังวังสะแกง นั่นหมายความว่าการเชื่อมระหว่าง 3 วังน้ำใหญ่ในพื้นที่ อ.จอมทอง ในช่วงนี้จะเชื่อมกันเป็นชุดเดียวกัน ต่อจากนั้นจะทำการทำร่องชักน้ำจากวังสะแกงเข้าสู่บริเวณหน้าฝายวังปานต่อไป

 
“การทำร่องชักน้ำเช่นนี้เพียงเพื่อให้น้ำที่ไหลในชั้นทรายได้มีร่องน้ำไหลได้ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจะทำได้ง่ายขึ้น น้ำจากวังหม้อซึ่งมีน้ำในปริมาณที่มากพอสมควร ผู้นำและประชาชนในพื้นที่เต็มใจที่จะแบ่งปันน้ำมายังตอนล่างลงมา และเมื่อน้ำในแต่ละรอบเวรที่บริหารจัดการจากเขื่อนแม่งัดมาถึงฝายหนองสะลีกซึ่งอยู่เหนือวังหม้อขึ้นไปจะมีการปล่อยน้ำส่วนที่เกิดอยู่ขณะนี้ลงมาเติมให้ในปริมาณน้ำที่ใช้ไป ซึ่งเป้าหมายก็คือน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และส่วนเกินที่เหลือส่งไปช่วยไม้ยืนต้นได้ด้วย” นายจานุวัตรฯ กล่าว

 
“หากเราทำร่องชักน้ำไปถึงหน้าฝายวังปานได้คาดว่าจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ช่วงนี้ลงไปได้บางส่วน จากนั้นก็จะขยับลงไปช่วยถึงสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุ่งหมากมุ่น แต่ถัดลงไปจากนี้จะบรรเทาแล้ว พื้นที่ตอนล่างจากนี้ได้รับน้ำส่วนหนึ่งมาจากน้ำแม่กลางและน้ำแม่แจ่ม ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ มีอยู่ราว 5 สถานีสูบน้ำที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้สามารถสูบน้ำได้ เพื่อบรรเทาให้ไม้ยืนต้นพอที่จะอยู่ต่อไปได้”

 
ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่วันนี้ ได้มีการประสานศูนย์ป้องก้นและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง เพื่อนำเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกลมาช่วยในสถานีสูบน้ำแท่นคำ ซึ่งสถานีนี้เป็นสถานีสูบน้ำที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ ส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงในพื้นที่ 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน แต่เนื่องจากเครื่องสูบน้ำมีขนาดใหญ่ สูบน้ำเพียงชั่วโมงครึ่งก็ไม่สามารถสูบน้ำได้อีก เนื่องจากในในลำน้ำปิงไหลมาเติมยังจุดที่สูบไม่ทัน ประกอบกับเหมืองส่งน้ำเข้าพื้นที่เป็นเหมืองดิน มีสภาพแห้ง การสูบผ่านลำเหมืองจึงไม่ได้ระยะตามที่ต้องการ น้ำไหลซึมลงดินที่แห้งเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ โดย นายมงคล สุกใส รอง ผวจ.เชียงใหม่ ได้ประสานไปยัง ศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง พร้อมส่งเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกลเข้าพื้นที่ช่วลเหลือบรรเทาความเดือนร้อนให้ประชาชนเป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น