ผู้ปกครองสะอื้น พิษเปิดเทอม แห่เข้าโรงตึ๊ง

b1 w=27h=9
ผู้ปกครองปาดเหงื่อเปิดเทอม สำรวจ 51% ยันเงินไม่พอจ่ายส่วนใหญ่พึ่งโรงตึ๊ง-ยืมญาติ ห่วงกลุ่มกู้เงินนอกระบบ-รูดบัตรเครดิต จะเจอดอกเบี้ยซ้ำวิกฤติ
นายธนวรรธน์ พลวิชัยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม จากกลุ่มตัวอย่าง 1,210 ตัวอย่าง สำรวจระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.2559 ว่า ในช่วงเปิดเทอมปี 2559 คาดมีเงินสะพัดกว่า 49,145.10 ล้านบาท ขยายตัว 2.3% จากปีก่อน และถือเป็นการขยายตัวดีที่สุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 แต่ก็ยังเป็นการขยายตัวในระดับต่ำ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังมีการระมัดระวังการใช้จ่าย เศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ แต่ทั้งนี้ก็มีสัญญาณบวกเล็กน้อยจากการที่ผู้ปกครองมีการซื้อของให้บุตรหลานมากชิ้นขึ้น โดย 39.5% ระบุจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 30.4% จะซื้อเท่าเดิม และ 30.1% จะซื้อสินค้าในช่วงเปิดเทอมน้อยลง สะท้อนความมั่นใจที่ขยับขึ้นมาในทางที่ดี และหอการค้าไทยเชื่อว่าหากรัฐยังคงรักษาระดับเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง จะเป็นทิศทางที่ดีของเศรษฐกิจได้ และการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนี้ ประมาณ 50,000 ล้านบาทจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ประมาณ 0.1-0.2% ซึ่งได้รวมกับการประมาณการเศรษฐกิจที่มีคาดการณ์ว่าในปีนี้จะขยายตัวได้ 3-3.5% แล้ว
“ในภาวะที่เศรษฐกิจปกติ การใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมจะขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 5% แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับต่ำ ทำให้การใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 2% เท่านั้น และในปีนี้การใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมขยายตัวที่ 2.3% สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังโตไม่เต็มที่ แต่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวแบบอ่อนๆ มีสัญญาณการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แม้คนจะระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ก็เริ่มใช้จ่ายในการซื้อสิ่งของมากชิ้นขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากรายได้ที่สูงขึ้น”
ทั้งนี้การใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2559 ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 40.1% จะใช้จ่ายเรื่องค่าเล่าเรียน/ค่าหน่วยกิต รองลงมา 29.1%เป็นงบค่าบำรุงโรงเรียน(กรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่/แป๊ะเจี๊ยะ) 6.7% เป็นงบค่าบำรุงโรงเรียน(ปกติ) และค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือ ค่าบริหารจัดการพิเศษ เช่นค่าประกันชีวิต ฯลฯ ค่าเสื้อผ้า/รองเท้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของเงิน ที่ใช้จ่าย ผู้ปกครอง 48.7% ระบุว่ามีเพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยมีแหล่งเงินมาจากเงินเดือน เงินออม โบนัส/รายได้พิเศษ และผู้ปกครอง 51.3% ระบุว่ามีเงินไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ซึ่งวิธีแก้ คือ ส่วนใหญ่ 32.8% จะมีการนำทรัพย์สินไปจำนำ 21.5% ยืมญาติพี่น้อง รองลงมาคือ กู้นอกระบบ กู้ในระบบ เบิกเงินสดจากบัตรเครดิต และอื่นๆ เช่น เสี่ยงโชค
สำหรับทัศนะของผู้ปกครองต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ปกครองให้คะแนน 6.90 คะแนน จาก 10 คะแนน โดยส่วนใหญ่ 34.9 % ระบุว่าดีขึ้น รองลงมา 22.8% ระบุว่าแย่ลง ขณะที่ 15.9% เห็นว่าไม่แตกต่าง มีเพียง 12.7% ระบุว่าดีขึ้นมากที่สุด 11.8% บอกว่าแย่ลงมาก และ 1.9% ไม่มีความเห็น ส่วนเรื่องของมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกัน 62.4% บอกว่ามีความเท่าเทียมกัน แต่ 37.6% บอกว่าไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่ม กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการศึกษาปัจจุบัน สิ่งที่รัฐควรดูแล คือ ให้ความสำคัญกับการศึกษาของประเทศเป็นลำดับต้นๆ มีการให้ทุนหรือค่าเล่าเรียน/ค่าหน่วยกิตของเอกชน ดูแลความเท่าเทียมของโรงเรียนในเมืองและเขตนอกเมือง ต้องสร้างบุคลากรทางการศึกษาให้เพียงพอและได้มาตรฐานเดียวกัน มีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับประเทศ และเพิ่มรายได้ให้บุคลากรทางการศึกษาระดับต้น ขณะที่การศึกษาของไทยควรต้องมีการปรับปรุงในปัจจุบัน คือ สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม ต้องเน้นเรื่องการใช้ความคิดมากกว่าการท่องจำ ต้องสร้างจริยธรรม/คุณธรรมมากกว่าวัตถุนิยม ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กระดับปฐมวัย รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับวิชาชีพที่ตรงสายมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น