“สืบฮีตสานฮอย ตามรอยสล่าล้านนา” ที่กาดสวนแก้ว

 

อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว เชิญชวนชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวร่วมตามรอยสล่าล้านนาชมนิทรรศการ “สืบฮีตสานฮอย” สีสันแห่งล้านนา คงคุณค่าคู่เชียงใหม่

3
“สล่า” เป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ ความหมายเหมือนกับคำว่า “ช่าง” หมายถึง ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสาขาอาชีพ ตามแขนงงานของตน คำว่า “สล่า” นั้นมีความยิ่งใหญ่ มีตำนานเล่าขานที่น่าสนใจ ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ที่จะยึดอาชีพงานสล่าได้นั้น จำเป็นต้องมีทักษะฝึกฝน เรียนรู้และผ่านประสบการณ์ให้เกิดความชำนาญได้เป็นอย่างดี จะต้องมีองค์ความรู้อีกหลายอย่าง ได้แก่ การรู้จักคิดเป็น ทำเป็น สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้อง ยึดหลักการของเหตุผล ตลอดจนมีแนวความคิดไหวพริบด้วยสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด รอบคอบ ขยัน อดทน ทำงานด้วยความปราณีต ละเอียดอ่อน และจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นรูปแบบด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่น เพื่อเป็นการสื่อแสดงถึงจิตวิญญาณ วิถีชีวิต เผ่าพันธุ์ อันจะเป็นมุมมองที่ได้สะท้อนถึงความมีอายระธรรม ความเชื่อ พิธีกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาได้เป็นอย่างดี ดั่งที่ได้เรียกขานขนานนามว่า “สล่าเมือง”

4
เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีสีสันของศิลปวัฒนธรรมอันเกิดมาจากภูมิปัญญา และฝีมือสล่าล้านนาครบถ้วนทุกกระบวนงานช่างด้วยสีสันอันสวยงาม ความอ่อนหวานของงานศิลป์ ซึ่งก่อเกิดจากพื้นฐานการดำเนินชีวิตของชาวล้านนาผู้อ่อนน้อมถ่อมตน และหัวใจอันอ่อนโยน สรรสร้างให้งานนั้นมีการสืบสานต่อมาอย่างมีคุณค่า และการสืบสานงานช่างอันเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่คนต่างถิ่นอยากมา ไม่ว่าจะในประเทศหรือนอกประเทศ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อกระแสสังคมสมัยใหม่รุนแรงขึ้นทุกวันย่อมส่งผลกระทบต่อการสืบสานศิลปะอันอ่อนหวาน และอ่อนไหวของความเป็นล้านนา เรื่องราวการตามหาผู้สืบฮีตสานฮอย จึงเริ่มต้นขึ้นโดยจัดหมวดหมู่ของสล่าหรือช่างตามลักษณะของการกระทำได้คร่าวๆ 12 ประเภท ได้แก่

 

สล่าปูนปั้น (นพรัตน์ พิณชัย วัย 61 ปี), สล่าหล่อพระ (ดวงจันทร์ จันทรัตน์ วัย 79 ปี), สล่าจ้างฟ้อน (แม่ครูบัวเร็ว เวชสุคำ วัย 66 ปี), สล่าจ้างซอล้านนา (พ่อครูบุญศรี รัตนัง วัย 63 ปี), สล่าจ้างทอ (แม่ครูจันทร์ กรรณิกา วัย 78 ปี), สล่าเขียนวัด (พรชัย ใจมา วัย 46 ปี), สล่าน้ำต้น (สมทรัพย์ ศรีสุวรรณ์ วัย 51 ปี), สล่าจักสาน (พ่อครูใจคำ ตาปัญโญ วัย 87 ปี), สล่าจ้างรัก (แม่ครูดวงกมล ใจคำปปัน วัย 67 ปี), สล่าดุนเงิน (ธนู บุญมา วัย 56 ปี), สล่าต้อง โคม ตุง (แม่ครูบัวใหล คณะปัญญา วัย 82 ปี) และสล่าแกะสลัก (สมาน รังทะษี วัย 48 ปี)
จากการตามหาผู้สืบฮีตสานฮอยสานต่อศิลปวัฒนธรรมของล้านนาในรุ่นต่อๆ ไปทำให้เราเข้าใจและเห็นคุณค่าของผลงานทางวัฒนธรรมทุกชนิดอย่างไม่เคยได้เข้าใจมาก่อน เราจึงอยากนำเสนอเรื่องราวเพียงบางส่วนของการ “สืบฮีตสานฮอย” ศิลปวัฒนธรรมล้านา ให้ทุกท่านได้รับทราบ มีส่วนรวมในการรักษา และสืบสานวัฒนธรรมอันงดงาม ให้คงอยู่สืบต่อไป
อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว ขอเชิญทุกท่านมาร่วมชมนิทรรศการและตามรอยสล่าล้านนาเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ต่อไปอันนานแสนนาน ร่วมสัมผัสเรื่องราวของสล่าล้านนาได้ ตั้งแต่วันนี้ บริเวณโซน @B1 ชั้น B1 อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น