“ไหว้พระ 9 วัด เสริมสิริมงคล”

Cover

วันวิสาขบูชา หรือ วิศาขบูชา  เป็น “วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล” ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก วันสำคัญของโลก ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  วันนี้จึงอยากเรียนเชิญพุทธศาสนิกชนเข้าวัดฟังธรรม ปฎิบัติธรรม เพื่อความเป็นสิริมงคล และสืบทอดบวรพุทธศาสนาในโอกาสวันสำคัญนี้
IMG_9860

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1888 โดยพญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์เม็งรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา มีชื่อเดิมว่า “วัดลีเชียงพระ” ต่อมาสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของล้านนามาประดิษฐาน ชาวเมืองเชียงใหม่มักเรียกกันว่าพระสิงห์ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดพระสิงห์ และปี พ.ศ. 2493 วัดนี้ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

สิ่งที่น่าสนใจในวัดพระสิงห์คือความงดงามของ ‘วิหารลายคำ’ ขนาดกะทัดรัดที่มีสถาปัตยกรรมตามคติล้านนาที่ใช้สีแดงแทนการมีชีวิต ประกอบกับสีทองบ่งบอกถึงความสว่างไสวในธรรมะ ภายในวิหารประดิษฐานพระสิหิงค์และมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทองและเรื่องสุวรรณหงส์โดยรอบ โดย ศ.ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทองซึ่งพบอยู่แห่งเดียวนี้ไว้ว่า “ถ้าเรามองดูภาพของเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ เราจะรู้สึกเหมือนว่าได้เข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน” เลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีหอไตรที่ผนังประดับด้วยทวยเทพปูนปั้นสวยงาม ด้วยฝีมือช่างสมัยก่อนกับรูปสัตว์หิมพานต์ต่างๆ สวยงามสมกับศิลปะแบบล้านนาแท้ๆวัดพระสิงห์ วรมหาวิหารนี้ยังเป็นวัดประจำปีนักษัตรในปีมะโรง (งูใหญ่) อีกด้วย วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถ.สามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

DSC_6501

 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1929 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช (พญากือนา) กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ในราชวงศ์เม็งราย โดยได้โปรดอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่จากสุโขทัยมาบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ ปี พ.ศ.2100 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ ได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้างเพื่อให้ประชาชนได้ขึ้นไปสักการะ และเมื่อ พ.ศ.2477 ครูบาศรีวิชัย นักบุญล้านนาไทยเป็นผู้เริ่มดำเนินการสร้างถนน ความยาวกว่า 12 กิโลเมตร จากบริเวณสวนสัตว์เชียงใหม่ ปัจจุบันขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าเลื่อมใสเหล่านี้ ทำให้วัดพระธาตุดอยสุเทพกลายเป็น ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเชียงใหม่ และยังเป็นพระอารามหลวงที่อยู่ในอุปถัมภ์ของกษัตริย์ทุกพระองค์นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้ทางวัดได้เปิดให้บริการรถรางไฟฟ้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่อยากเดินขึ้นบันไดนาคจนเหนื่อย ค่าบริการ 20 บาท (คนไทย) และ 50 บาท (ชาวต่างชาติ) แต่หากใครอยากเดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ ก็จะได้เห็นเด็กน้อยชาวม้ง แต่งตัวน่ารักๆ และชักชวนให้เราถ่ายรูปด้วย เป็นเสน่ห์อีกอย่างของวัดพระธาตุดอยสุเทพ

การเดินทางเพื่อสักการะวัดพระธาตุดอยสุเทพ สามารถใช้บริการรถสองแถวแดงบริเวณหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ได้ โดยมีทั้งไป-กลับขึ้นดอยสุเทพและดอยปุย หรือหากมีรถยนต์ส่วนตัวก็สามารถขับขึ้นไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 14 กิโลเมตรได้สะดวกๆ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารยังเป็นวัดประจำปีนักษัตรในปีมะแม ควรมาสักการะพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หากมาเชียงใหม่แล้วก็ควรขึ้นไปสักการะสักครั้งหนึ่งเช่นกัน

วัดพระธาตุดอยสุเทพ ราชวรวิหาร  ตั้งอยู่ที่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

 

 

_DSC1309

วัดชัยพระเกียรติ

เดิมชื่อวัดชัยผาเกียรติ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าเมกฺฏิ วิสุทธิวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ ถือเป็นพระอารามของนครเชียงใหม่มาแต่โบราณ จากประวัติศาสตร์ที่ดูตามจารึกของอักษรพม่าว่าไว้ เจ้าไชยยะสรัพศาจาผัน ณ มหานครเชียงใหม่ มีความประสงค์จะให้มีสิ่งสักการะบูชาสำหรับคน เทวดาและพรหมตลอด 5000 พรรษาของพระพุทธศาสนา จึงรวบรวมเอาบรรดาพระพุทธรูปแตกหักนำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ชื่อ “พระพุทธรูปเมืองราย” หรือ “พระพุทธรูปห้าตื้อ” ซึ่งเรียกตามน้ำหนักที่หล่อพระพุทธรูปองค์นี้นั่นเอง (5 ตื้อเท่ากับ 50 โกฏิ) สิ่งก่อสร้างของวัดแห่งนี้ปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ผุพังไป และเนื่องจากอาณาจักรล้านนาเคยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า จึงมีผลทำให้ศิลปวัฒนธรรมได้รับอิทธิพลมาจากพม่าด้วย เช่นรูปแบบสถาปัตยกรรมของยอดปราสาท

วัดชัยพระเกียรติตั้งอยู่ใกล้ถนนคนเดินวันอาทิตย์  จึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว และภายในวัดก็สงบร่มรื่น สามารถเดินได้เพลินๆ โดยชาวเชียงใหม่ยังเชื่อว่าหากมากราบไว้ที่วัดนี้จะเสริมสร้างเกียรติยศและศักดิ์ศรีให้แก่ตัวเราและครอบครัว และภายในวิหารยังมีของเก่าของโบราณทั้งพระพุทธรูปและเครื่องมือเครื่องใช้สมัยก่อนให้ดูเสริมความรู้อีกด้วย

วัดชัยพระเกียรติ  ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

 

DSC_1417

 วัดเชียงมั่น

วัดเชียงมั่นถือเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ประวัติความเป็นมาคือหลังจากพญางำเมือง พญาร่วง และพญามังราย ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1839 ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่หอนอนเชียงมั่น ซึ่งเป็นที่ประทับชั่วคราวของพญามังรายระหว่างการสร้างเมือง เรียกว่า “เวียงเล็ก” หรือ “เวียงเหล็ก” ที่มีความหมายว่าความมั่นคงแข็งแรง ต่อมาพญามังรายเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ชื่อว่า “เวียงแก้ว” จึงได้อุทิศตำหนักคุ้มเวียงเล็กถวายแด่พระพุทธศาสนาและพระราชทานนามมงคลว่า “วัดเชียงมั่น” อันหมายถึงบ้านเมืองที่มีความมั่นคง ชาวเชียงใหม่จึงเชื่อกันว่าหากมากราบไว้ที่วัดนี้ ชีวิตก็จะประสบแต่ความมั่นคงตลอดไป

ภายในวัดมีทั้งเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะ กำแพง และประตูโขง ซึ่งล้วนแต่มีประวัติความเป็นมาและสิ่งน่าสนใจ อย่างภายในวิหารจัตุรมุขเป็นที่ประดิษฐานพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) ปางมารวิชัย และพระศิลาปางปราบช้างนาฬาคิริง อายุกว่า 2,500 ปีและมีตำนานอย่างยาวนาน โดยพระเสตังคมณีแกะสลักจากหินผลึกสีขาวขุ่นด้วยฝีมือของช่างปฏิมากรชาวละโว้ ส่วนพระศิลานั้นแกะสลักด้วยหินชนวนสีดำตามคติความเชื่อของช่างปาละชาวอินเดีย

นอกจากนี้ยังมีวิหารที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าความเป็นมาของการสร้างเมืองเชียงใหม่ รวมถึงเจดีย์ช้างล้อมทรงสี่เหลี่ยมผสมทรงกลมฐานช้างล้อม ลักษณะต้นแบบของเจดีย์ทรงล้านนา โดยเชื่อกันว่าเจดีย์นี้เคยถล่มลงมาสมัยพระเจ้าติโลกราช จึงได้โปรดสร้างขึ้นใหม่โดยใช้ศิลาแลงแทน

วัดเชียงมั่น  บ้านเชียงมั่น ถ.ราชภาคินัย ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

_DSC1366

วัดเชียงยืน

ในเอกสารโบราณตามพงศาวดารโยนกเรียกชื่อว่า “วัดทีฆะชีวะวัสสาราม” ซึ่งมีความหมายว่าชีวิตที่ยืนยาว นักท่องเที่ยวมักจะไปกราบไหว้กันในวันสำคัญๆ เช่น วันปีใหม่ไทย วันปีใหม่สากล เพื่อขอให้อายุยืนยาว ตามประวัติ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยพญามังราย โดยสร้างไว้ให้คู่กันกับวัดเชียงมั่น โดยสร้างวัดเชียงยืนนี้ให้เป็นวัดที่สองนอกเวียงทางหัวเมือง เพื่อให้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาสำหรับชาวเมืองนอกเขตกำแพงเมือง

วัดเชียงยืนมีมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าคือเป็นที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์รูปทรงแปดเหลี่ยม ที่สื่อความหมายถึงเดชบารมีแผ่ไปทั่วแปดทิศ และภายในพระวิหารหลวงยังประดิษฐานพระสัพพัญญูเจ้า พระประธานแห่งวัดเชียงยืนที่ต้องมาสักการะสักครั้งเมื่อมาถึงเชียงใหม่ และยังมีโบสถ์แปดเหลี่ยมตามศิลปะแบบพม่าที่มีอยู่แห่งเดียวในล้านนา และหอธรรมที่ตกแต่งในรูปแบบศิลปะพม่าด้วยเช่นกัน ความน่ารักที่อยากให้มาสัมผัสคือชุมชนรอบๆ วัดเชียงยืนแห่งนี้ยังร่วมมือกันดูแลวัดไม่ขาด โดยในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี จะมีประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุวัดเชียงยืนเป็นประจำ จัดพร้อมๆ กับงานประเพณีปี๋ใหม่เมือง

วัดเชียงยืน  ถ.มณีนพรัตน์ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

DSC_0314

วัดดับภัย

วัดดวงดีเป็นอีกหนึ่งวัดของเส้นทางทำบุญไหว้พระ 9 วัดที่เชียงใหม่ เพื่อเสริมสิริมงคลตามชื่อวัด วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังรายมหาราช เดิมชื่อ ‘วัดอภัย’ แต่มีตำนานเล่าขานว่าพญาอภัยล้มป่วยทำการรักษาอย่างไรก็ไม่ทุเลา จึงตั้งจิตอธิษฐานต่อหลวงพ่อดับภัยแล้วอาการเจ็บป่วยก็หายไปโดยพลัน จึงเรียกชื่อวัดแห่งนี้ใหม่ว่าวัดดับภัย

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปดับภัย (หลวงพ่อดับภัย) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองในรูปแบบศิลปะเชียงแสน ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ โดยนักท่องเที่ยวสามารถซื้อหาดอกไม้เข้าไปไหว้หลวงพ่อดับภัยได้ที่หน้าวิหารที่มีบันไดนาค นอกจากนี้ วัดแห่งนี้ยังมีศาลาบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยพระเจ้าอินทวโรรส กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่เสด็จฯ กลับจากกรุงเทพฯ ก็ต้องแวะมาเอาน้ำจากบ่อน้ำนี้ไปสรงน้ำพระพุทธมนต์ ความเชื่อนี้ส่งต่อมายังปัจจุบัน เมื่อชาวบ้านและนักท่องเที่ยวไหว้หลวงพ่อดับภัยเสร็จ ก็มักจะต้องมาตักน้ำจากในบ่อนี้ขึ้นมา แม้ว่าในปัจจุบันน้ำในบ่อจะเหลือน้อยแล้วก็ตาม นอกจากนี้ภายในวัดยังมีวิหารหลวงพ่อหยกขาวดับภัยและพระเจดีย์แห่งวัดดับภัย ซึ่งล้วนมีศิลปกรรมสวยงามตามแบบล้านนา

สำหรับความเชื่อของการมากราบไหว้วัดแห่งนี้ ก็คือเพื่อดับโรคภัยไข้เจ็บและทุกข์ภัย ที่กำลังจะเข้ามาในชีวิตและที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้เข้มแข็งต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เมื่อโรคภัยผ่านไปแล้ว

วัดดับภัย  ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

DSC_0581

วัดชัยมงคล

วัดเก่าแก่อายุประมาณ 600 ปี สร้างราวสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นเจ้าเมืองปกครองเชียงใหม่ในสมัยที่ถูกพม่าปกครอง ลักษณะของเจดีย์และศิลปกรรมในวัดนี้จึงได้รับอิทธิพลมาจากพม่า-มอญเป็นส่วนใหญ่ เดิมชื่อวัดมะเล่อ จนต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงได้ขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดชัยมงคล (ริมปิง) เพราะเป็นท่าน้ำลงเรือสำหรับเจ้านายฝ่ายเหนือที่จะไปกรุงเทพฯ ถือเป็นวัดพี่น้องกับวัดบุพพาราม

ภายในวิหารประดิษฐาน ‘พระพุทธชัยมงคล’ ปางมารวิชัย ลงรักปิดทองเป็นพระประธาน ด้านหลังพระพุทธรูปมีธรรมาสน์ไม้แกะสลักรูปนาคเจ็ดเศียร สร้างในปี พ.ศ.2476 และยังมีพระพุทธรูปไม้สักปางเปิดโลกที่ได้รับมาจากวัดกิติด้วย ถือเป็นวัดที่ชาวพุทธนิยมมาปล่อยสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยกบ

วัดชัยมงคล   ถ.เจริญประเทศ ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่

 

DSC_0154

 วัดหมื่นเงินกอง

สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช (พญากือนา) โดยหมื่นเงินกองนั้นเป็นชื่อของมหาอำมาตย์ตำแหน่งขุนคลัง โดยได้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ตนเองได้รับมา

เจดีย์ภายในวัดเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเชียงใหม่ ผสมระหว่างเจดีย์ทรงเหลี่ยมศรีสัชนาลัยและเจดีย์ทรงกลมของล้านนาที่เป็นทรงประสาทฐานสี่เหลี่ยม ย่อมุมสูง มีเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจรประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน โดยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534 เคยถูกฟ้าผ่าครั้งหนึ่งแต่ไม่มีส่วนใดของพระธาตุเจดีย์เสียหายเลย ถือเป็นความอัศจรรย์อย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีวิหารพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ศิลปกรรมแบบล้านนาประทับฐานบัว และวิหารโบราณกึ่งตึกกึ่งไม้ที่สันนิษฐานว่ามหาอำมาตย์หมื่นเงินกองและภริยา ลูกหลานร่วมกันสร้างขึ้น

วัดหมื่นเงินกอง   ถ.สามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

Untitled-11

วัดดวงดี

วัดดวงดี เดิมชื่อ “วัดต้นหมากเหนือ” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว และมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งเป็นผู้คิดค้นการสร้าง

ประวัติของวัดดวงดี ตามหนังสือเขียนไว้ว่า พระอธิการบุญชู อภิปุญโญ (เจ้าอาวาสในขณะนั้น) ได้ขอให้คุณปวงคำ ตุ้ยเขียว ค้นคว้าและเรียบเรียงประวัติวัดดวงดี เพราะเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของนครเชียงใหม่ มีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก อาจจะเนื่องเพราะชื่อวัดเป็นมงคลดี ซึ่งปรากฏว่าวัดดวงดีมีหลายๆชื่อ เช่น วัดพันธนุนมดี วัดอุดมดี วัดพนมดี ในปี พ.ศ.2513 คุณปวงคำได้เป็นผู้ช่วยวิจัยในโครงการวิจัยคำจารึกบนฐานพระพุทธรูป ในตำบลศรีภูมิกับตำบลพระสิงห์ โดยมี ดร.ฮันส์ เพนธ์ เป็นหัวหน้า ซึ่งได้พบคำจารึกบนฐานพระพุทธรูปโลหะองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ในวิหาร จารึกด้วยอักษรไทยยวน มีความว่า “สกราชได้ 859 ปีวายสี พระเจ้าตนนีแสนนืงไว้วัดต้นมกเหนือ” (จ.ศ.858 พ.ศ.2039 สมัยพระเจ้ายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่) พระพุทธรูปองค์นี้ถ้าไม่มีผู้นำมาจากที่อื่น แต่สร้างขึ้นในวัดนี้ หมายความว่าวัดดวงดีมีชื่อเรียกอีกอย่างคือ วัดต้นมกเหนือ หรือวัดต้นหมากเหนือ วัดดวงดีคงสร้างขึ้นหลังจากพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว

 

วัดดวงดี   ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น