อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ติดตามปฏิบัติการยับยั้งลูกเห็บพื้นที่เหนือ

1038783อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามสรุปผลการดำเนินการยับยั้งลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ พบปฏิบัติการยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์แล้ว 900 นัด เพื่อยับยั้งลูกเห็บที่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายของเกษตรกร ห้วงระหว่าง 21 มี.ค.-19 พ.ค.59

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 พ.ค.59 ที่ห้องประชุมกองบิน 41 นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เดินทางมาลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง การปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งลูกเห็บ ประจำปี 2559 โดยมี น.ส.หนึ่งหทัย ตันติพลับ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการบรรยายสรุปผลการปฏิบัติการในห้วงที่ผ่านมา

ซึ่งโครงการ ปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งลูกเห็บ เป็นโครงการตามพระราชประสงค์ เมื่อปี 2542 ประชาชนได้รับความเสียหายเนื่องจากพายุลูกเห็บ ฝนหลวงต้องมีการปฏิบัติการยับยั้งลูกเห็บ จึงทำให้เกิดโครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งลูกเห็บ ความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ และศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การบินและอวกาศ กองทัพอากาศ โดยโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2549 จากการร่วมกันพัฒนาพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ และทดสอบทำฝนเมฆเย็นช่วยเหลือเกษตรกรในภาคเหนือและภาคกลาง และดำเนินโครงการความร่วมมือต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

1038784

ทาง นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า การปฎิบัติการฝนหลวงสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่จะลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากลูกเห็บจะเกิดเฉพาะในเมฆฝนฟ้าคะนอง จึงนำไปสู่การใช้เทคนิคทำฝนเมฆเย็น ขั้นตอนที่ 5 โจมตี ดังนั้น เม็ดน้ำแข็งเหนือระดับเยือกแข็งจะละลายกลายเป็นฝน ทำให้ลดความเสียหายที่เกิดจากพายุลูกเห็บได้ การปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น นักบินจะทำการยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่ระดับความสูงเหนือระดับเยือกแข็ง ซึ่งต้องใช้เครื่องบินที่มีสมรรถนะที่สามารถบินได้ด้วยความเร็วสูง ที่จะถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันเวลา ซึ่งการปฏิบัติการประจำวัน จะประชุมร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เพื่อวิเคราะห์สภาพอากาศและประเมินพื้นที่เสี่ยงภัย ได้แก่ แผนที่อากาศผิวพื้นภาพถ่ายดาวเทียม ดัชนีตัวชี้วัดอากาศผลตรวจอากาศชั้นบน จากนั้นนักวิชาการและนักบิน ร่วมกันวางแผนการปฎิบัติการฝนหลวงจาก Remote TITAN เพื่อกำหนดกลุ่มเมฆเป้าหมายตามเกณฑ์ การปฎิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น

สำหรับโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นยับยั้งลูกเห็บ ใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) ของกองทัพอากาศจำนวน 2 เครื่อง และเพื่อประเมินผลการปฎิบัติการฝนหลวงยับยั้งลูกเห็บ ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl Flare) จำนวน 900 นัด บินปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม ถึง 20 พฤษภาคม 2559 ฐานปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ สนามบินกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณพื้นที่ภาคเหนือในรัศมีการตรวจวัดของสถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย 240 กิโลเมตร โดยเครื่องเรดาร์จะทำการตรวจวัดกลุ่มฝนทุกๆ 6 นาที และโปรแกรมประยุกต์ TITAN ติดตามกลุ่มฝนไปพร้อมกันโดยอัตโนมัติ

1038781

สำหรับผลการปฎิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นเพื่อยับยั้งลูกเห็บ เครื่องบิน Alpha Jet บินปฏิบัติการรวม 16 วัน (21 มี.ค.-19 พ.ค.59) ชั่วโมงบินรวม 29:25 (29.4) ชั่วโมง ปฏิบัติการกับกลุ่มเมฆเป้าหมายที่อยู่ในเกณฑ์การทำฝนเมฆเย็นรวม 28 กลุ่ม ยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ รวม 793 นัด (เหลือพลุ 107 นัด) ทำให้มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการปฎิบัติการฝนหลวง รวม 1,422 ตร.กม.(888,525 ไร่) และปริมาณน้ำฝนจากสถานีวัดฝน รวม 162.2 มม. ครอบคลุมพื้นที่ฝนตกในอำเภอต่างๆ รวม 8 จังหวัด บริเวณอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อำเภอสะเมิง แม่แตง สันทราย เมือง หางดง สันป่าตอง แม่วาง ฮอด ดอยเต่า ดอยหล่อ จอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอลี้ บ้านโฮ่ง แม่ทา เมือง ทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน อำเภอเมือง เมืองปาน แจ้ห่ม เสริมงาม เกาะคา งาว ห้างฉัตร จังหวัดลำปาง อำเภอปง จังหวัดพะเยา อำเภอสอง จังหวัดแพร่ อำเภอสวรรคโลก ศรีสำโรง ทุ่งเสลี่ยง จังหวัดสุโขทัย และ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น