ประเมินผลผลิตลำไย เจาะตลาดไทย&เทศ

b2 w=9h=6สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประมาณการผลผลิตลำไยปี 2559 ทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ เผยมีปริมาณการผลิตลำไยรวม 288,063 ตัน พร้อมสำรวจช่องทางด้านการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งลำไยสดและแปรรูป พบว่ามีหลายช่องทาง คาดว่าไม่น่ามีปัญหาในเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากปีนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพราะหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

เมื่อวันที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมหริภุญชัย ศาลากลางจังหวัดลำพูน ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร ปลัดจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต การเก็บเกี่ยว และการตลาดของสินค้าสำคัญของ ปีการผลิต 2558/59 ของจังหวัดลำพูน ได้แก่ ลำไย ข้าว มันสำปะหลัง กระเทียม หอมแดง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ รวมทั้งเพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของภาคการเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืน โดยการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม โดยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการผลิต ลดต้นทุน การกระจายสินค้าทางการเกษตร และติดตามภาวะราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์และสรุปผลการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมา

ในส่วนของผู้แทนเกษตรจังหวัดลำพูนได้รายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประมาณการผลผลิตลำไยปี 2559 ทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 มีปริมาณการผลิตรวม 288,063 ตัน โดยจังหวัดลำพูน มีปริมาณการผลิตรวม 86,585 ตัน โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนได้สำรวจช่องทางด้านการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งลำไยสดและแปรรูป ซึ่งมีหลายช่องทาง ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหาในเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย โดยในส่วนของตลาดลำไยสดในประเทศ (มัดปุ๊ก/ช่อ) เป็นล้งรับซื้อลำไยจากเกษตรกรโดยตรง มีจำนวน 67 ล้ง เฉลี่ยรับซื้อประมาณ 335 ตัน/วัน ระยะเวลา 30 วัน จะสามารถรับซื้อได้ 10,050 ตัน ตลาดลำไยสดส่งออกต่างประเทศ (ตะกร้าขาว) มีจำนวน 67 ล้ง โดยเป็นล้งรายใหญ่ 26 ล้ง และล้งรายเล็ก 41 ล้ง ระยะเวลา 30 วันสามารถรับซื้อได้ประมาณ 45,150 ตัน สำหรับตลาดลำไยแปรรูป จะใช้ลำไยจากจุดร่อนทั้งหมด จำนวน 496 จุด เครื่องร่อน 1,064 เครื่อง สามารถร่อนลำไยสดได้ 3,724,000 กก.ต่อวัน ระยะเวลา 30 วัน สามารถร่อนลำไยเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปได้ จำนวน 111,720 ตัน ทั้งนี้ที่ประชุมได้เสนอให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการลำไยไทยและต่างประเทศ โดยมอบหมายให้ อปท.ทุกแห่งสำรวจข้อมูล ทั้งนี้เพื่อป้องกัน มิให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการค้าลำไยไทยและต่างประเทศ

สำหรับสถานการณ์การผลิตพืชสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปรัง ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 75 โดยจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งหมดแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2559 การผลิตหอมแดง จำนวน 2,752 ไร่ เกษตรกร 619 ราย ผลผลิตรวม 11,008 ตันสด เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ 100% เช่นเดียวกับกระเทียมที่มีพื้นที่ปลูก 2,661 ไร่ เกษตรกร 874 ราย มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตครบ 100% ซึ่งพืชเกษตรทั้ง 3 ชนิด ไม่มีปัญหาด้านปริมาณและราคาผลผลิตตกต่ำแต่อย่างใด

สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีพื้นที่เพาะปลูกผลผลิตปี 2558 ทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รวม 85,274 ไร่ ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วครบ 100% สำหรับพื้นที่การเพาะปลูกปี 2559 เป็นการผลิตเพื่อการต่อยอดหรือผลิตเพื่อเป็นผลิตพันธุ์ในพื้นที่อำเภอทุ่งหัวช้าง จำนวน 115 ไร่ เกษตรกร 40 ราย

ด้านสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลัง ปี 2558/59 มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 4,312 ไร่ เกษตรกร 751 ราย ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จร้อยละ 85 ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกรแจ้งว่า ราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังสดปีนี้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่เกษตรกรยังอยู่ในภาวะคุ้มทุนอยู่

ร่วมแสดงความคิดเห็น