เซรามิก หวังยกระดับก่อนบุกตลาดโลก

b3 w=12h=9

แรงงานจังหวัดลำปาง และสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางจับมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปั้นโครงการลำปางเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดึงผู้ประกอบการเซรามิกติวเข้มความรู้การทำธุรกิจสมัยใหม่ และสร้างสรรค์ หวังยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในตลาด AEC และตลาดโลก

นายสมชัย กมลเทพเทวินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการอบรมตามโครงการลำปางเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะการสื่อสารมวลชน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย. 59

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการเซรามิกในจังหวัดลำปางที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความรู้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำธุรกิจเซรามิกแบบสมัยใหม่ และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อเข้าสู่ตลาด AEC และมีโอกาสเข้าร่วมเจรจาธุรกิจหรือขยายการค้าหรือมีการเพิ่มการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีผู้ประกอบการเซรามิกในจังหวัดลำปางและตัวแทนเข้าร่วมจำนวนมาก ที่โรงแรมบุษย์น้ำทอง จังหวัดลำปาง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางกล่าวว่า อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางถือว่ามีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างธุรกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้แก่ผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่จังหวัดลำปางเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาทั้งต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงานจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การอบรมตามโครงการลำปางเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง และคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ มาถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการ ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนายกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการเซรามิกในจังหวัดลำปางให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและตลาดโลก

ขณะที่นายเกียรติพงษ์ แสนยากุล แรงงานจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการลำปางเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ริเริ่มขึ้นเนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์และความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการเซรามิกขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของจังหวัดลำปางในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ตลอดจนเสริมสร้างทักษะให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่เดิมและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีความรู้ในการทำธุรกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อรับมือกับการแข่งขันทางการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น

โครงการนี้จะมีการอบรมพัฒนาและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการเซรามิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการในการพัฒนาธุรกิจและมีแผนกลยุทธ์เพื่อใช้ในการเตรียมตัวออกสู่ตลาด AEC รวมทั้งมีโอกาสเข้าร่วมเจรจาธุรกิจเพื่อขยายการค้าหรือเพิ่มมูลค่าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป

ส่วนนายชัยณรงค์ จุมภู นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ระบุว่า สมาคมฯ มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการเซรามิกจำนวนทั้งสิ้น 135 ราย มีคนทำงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน โดยที่มูลค่าการตลาดของธุรกิจเซรามิกของจังหวัดลำปางในแต่ละปีนั้นมีมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งจังหวัด

ตามโครงการนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการจากการที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้การทำธุรกิจเซรามิกแบบสมัยใหม่และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อเข้าสู่ตลาด AEC ตลอดจนมีโอกาสเข้าร่วมเจรจาธุรกิจหรือขยายการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
ด้านรองศาสตราจารย์ ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้การสนับสนุนการจัดโครงการอบรมนี้ โดยการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการ ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการและให้คำแนะนำในการจัดทำโครงการ

การจัดอบรมครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลากหลายด้าน เช่น การอบรมการตลาดสมัยใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาด AEC, หลักสูตรการเขียนแผนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเซรามิก, การอบรมโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการบันทึกบัญชีเบื้องต้น และการอบรมความรู้กฎหมายด้านแรงงาน เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้อย่างรอบด้านในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดีในภาวะปัจจุบัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น