สดร. ปลื้มคนไทยไม่กลัวฝนแห่ชมดาวอังคารล้นหลาม

image

สดร. ปลื้มคนไทยไม่กลัวฝนแห่ชมดาวอังคารล้นหลามฟ้าเปิดหลังสามทุ่ม เห็นชัดแจ๋ว ทั้งดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งจุดสังเกตการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลก” 4 แห่ง ที่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา และ นครราชสีมา ประชาชนแห่ชมแน่นขนัด แม้ช่วงหัวค่ำฝนตกและมีเมฆมาก แต่หลังสามทุ่มฟ้าใส มาครบทั้งดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ พบกันอีกครั้ง 31 พฤษภาคม 2559

S__65765381

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มาร่วมกิจกรรม ณ จุดสังเกตการณ์ลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน เปิดเผยว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ สดร. ขนทัพมาจัดกิจกรรมดูดาวกลางกรุงเทพฯ สดร. ได้เตรียมกล้องโทรทรรศน์ทั้งแบบหักเหแสง และสะท้อนแสงมาให้บริการประชาชนกว่า 20 ตัว ทั้งนี้ช่วงเย็นจนถึงหัวค่ำสภาพอากาศไม่เป็นใจ ฝนเทลงมาเป็นช่วงๆ จนกระทั่งเวลาประมาณหนึ่งทุ่มฟ้าเริ่มเปิด ดาวพฤหัสบดีก็โผล่มาให้เห็นด้วยตาเปล่าเป็นดวงแรก ท่ามกลางความตื่นเต้นของประชาชนที่เฝ้ารอชมอย่างไม่ลดละ

image

หลังจากชื่นชมดาวพฤหัสบดีได้ไม่นานฝนก็ตกลงมาอีก จนกระทั่งเวลาประมาณ 21:00 น. ฝนหยุดตก ฟ้าทางทิศตะวันออกเริ่มเปิดอีกครั้ง ดวงจันทร์ค่อยๆ โผล่พ้นเมฆออกมา ฟ้าเริ่มใสเคลียร์ ความคึกคักเริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และแล้ว “ดาวอังคาร” ที่เรารอคอยมาตั้งแต่หัวค่ำก็เผยให้เรายลโฉมกันด้วยตาเปล่าอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังสามารถเห็นดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีได้อย่างชัดเจน ประชาชนที่มาเฝ้ารอชมต่างพากันชี้ชวนกันดูดาวอังคารที่สว่างสุกใสเป็นประกายสีส้ม เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า และยังตื่นเต้นกับการได้เห็นดาวเสาร์ และวงแหวนของดาวเสาร์ด้วยตาตนเองผ่านกล้องโทรทรรศน์ รอต่อแถวยาวเหยียดเพื่อชมดาวกันชัดๆ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ คืนนี้มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างล้นหลาม กว่า 1,000 คน

image

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่การจัดกิจกรรมดูดาวในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก แม้ฝนจะตกๆ หยุดๆ หลายรอบ ก่อนฟ้าจะเปิด แต่ประชาชนก็ยังไม่ท้อถอย ต่างเฝ้ารอกันอย่างไม่ลดละ ต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญขอขอบคุณศูนย์การค้าสยามพารากอน ที่สนับสนุนการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมดูดาวในครั้งนี้

ส่วนการจัดกิจกรรม ณ จุดสังเกตการณ์อีก 3 แห่ง แม้ว่าในช่วงหัวค่ำจะมีเมฆมากหรือมีฝน แต่ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ที่หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา หลังฝนตกฟ้าเปิด เห็นดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ชัดเจนเช่นกัน

image

“ในช่วงระหว่างวันที่ 22-31 พฤษภาคม 2559 เป็นช่วงที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในคืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 76.31 ล้านกิโลเมตร และหลังจากนั้นจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งจะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ระยะห่าง 75.28 ล้านกิโลเมตร นับเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

เราจะมองเห็นดาวอังคารสุกสว่างส่องประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีความสว่างมาก สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กก็จะสามารถมองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวดาวอังคารได้ นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวยังจะสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ และดวงจันทร์ปรากฏในบริเวณใกล้เคียงกันอีกด้วย
NARIT ชวนคุณมาใกล้ชิดดาวอังคาร อีกครั้งในคืนวันดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบ 11 ปี ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น.

S__65765380
1) เชียงใหม่ – ลานน้ำพุ ศูนย์การค้าเมญ่าไลฟ์สไตล์ช็อปปิ้ง เซนเตอร์ เชียงใหม่
2) นครราชสีมา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
3) ฉะเชิงเทรา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

S__65765379
พร้อมเครือข่ายโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์มากกว่า 100 แห่ง จัดกิจกรรมชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาพิเศษที่จะได้สัมผัสความสวยงามของดาวอังคารพร้อมกันทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียด และสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/NARITPage

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524
E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth , Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ร่วมแสดงความคิดเห็น