ชาติพันธุ์ค้าน วิวาห์ชนเผ่า เตรียมยื่น หนังสือ ถึงผู้ว่าฯ

กลุ่มชนเผ่า-ชาติพันธุ์ แม่ฮ่องสอน รวมตัวค้านงานวิวาห์ชนเผ่าที่ทาง ททท.แม่ฮ่องสอน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เตรียมจัดขึ้น โดยเชิญคู่บ่าวสาว ดาราดังเข้าพิธีเป็นคู่ไฮไลท์ของงาน เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัด ระบุงานดังกล่าว ไม่คำนึงถึงวิถีชนเผ่า ละเมิดประเพณีดั้งเดิมอย่างอภัยให้ไม่ได้ พ้อวิถีชนเผ่าไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาหากินแบบนี้ ล่าสุดกลุ่มชนเผ่าฯ 20 จังหวัด เตรียมยื่นหนังสือถึงพ่อเมืองฯ เพื่อแสดงจุดยืน และคัดค้านการจัดงานแล้ว
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 นายไวยิ่ง ทองบือ ประธานมูลนิธิปัญญาชาติพันธุ์ / Wisdom 0f Ethnic Foundation : WISB.และ ประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ( IMN ) , ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยง เพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรณีที่ ทาง สำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการเตรียมจัดงาน สมรสหมู่ 12 คู่ชาติพันธุ์ ซึ่งจะมีการจัดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2559 นี้ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน โดยในงานดังกล่าวจะมี บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี และนายเอกริน นิลเศรษฐี คู่สามีภรรยา ดารานักแสดงชื่อดังจะมาร่วมแต่งงานซ้ำสองในงานดังกล่าวด้วย

นายไวยิ่ง กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าว ตนขอคัดค้าน ในหลายประการด้วยกันคือ ประการแรก การแต่งงานของคน เชื่อว่าแต่ละเผ่าพันธุ์ให้ความสำคัญและคุณค่าของการแต่งงานตนเองเป็นหัวใจหลักของการแต่งงาน เพื่อให้เกิดเห็นภาพ ขอยกตัวอย่างการแต่งงานของพี่น้องกะเหรี่ยงเป็นต้นเรื่อง ชนเผ่าปกาเกอะญอ แต่งงานเพื่อบอกกล่าวให้ผีบ้าน ผีเรือน (ข้อนี้สำคัญกว่าข้ออื่นๆ) บอกกล่าวให้ญาติพี่น้อง เพื่อนมิตรรับรู้ว่าเขาสองคนได้ใช้ชีวิตร่วมกัน หากเป็นความเชื่อดั้งเดิมจะมีขั้นตอนในพิธีกรรมที่ซับซ้อนมากต้องนับญาติ นับสายเลือดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด หากเกิดความผิดพลาดบทลงโทษที่พวกเขาจะได้รับคือ หมายถึงชีวิตคนในครอบครัวหมายถึงความหายนะมาสู่ครอบครัวที่ไม่ใช่คู่ที่แต่งงาน แต่จะส่งผลต่อสมาชิกคนอื่น และบางคนอาจมีวิญญาณติดมาด้วยที่เรียกว่า “ผีกะ” (ครอบครัวที่มีผี “ต่าหยุ” ถือว่าเป็นครอบครัวที่โชคร้ายมาก เป็นที่รังเกียจจากสังคมรอบข้าง เสื่อมชื่อเสียง) เหตุนี้การแต่งงานจึงเป็นไปด้วยเหตุผลที่กล่าวมา สรุปไม่ได้แต่งงานเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว

ประการที่สอง คนเราเกิดมาหวังว่าในชีวิตหนึ่งจะมีการแต่งแค่เพียงครั้งเดียว แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ เช่น หย่าร้างจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต หรือด้วยสาเหตุอื่น ทำให้คู่ชีวิตต้องพลาดจากกัน การแต่งงานครั้งที่สองของชนเผ่าปกาเกอะญอจะเป็นเพียงแค่ให้ผีบ้านผีเรือนรับทราบ จัดขึ้นเรียบง่าย แม้แต่แขกที่เข้าร่วมงานจะต้องไตร่ตรองว่าจะเข้าร่วมดีหรือไม่กับพิธีแต่งงานครั้งที่สอง และยิ่งคู่สมรสที่อีกฝ่ายหนึ่งมีชีวิตอยู่นั้นในบางศาสนาจะไม่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ เพราะถือว่าเป็นการผิดสัญญากับคู่สามีคนก่อน

ประการที่สาม ตนรวบรวมเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นของผู้บริโภควิทยุและโทรทัศน์ จาก 25 กลุ่มในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ปรากฏว่ามีเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคข่าวข้อหนึ่งนั่นคือ “ดารา นักแสดงเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเยาวชนชนเผ่า” กล่าวคือ ค่านิยมการแต่งงานของเธอเขาเหล่านั้นต้องให้ใหญ่โต สินสอดทองหมั้นแพงๆ บางคู่เลิกราโดยที่ไปไม่ถึงไหน ร้ายกว่านั้นแต่งงานใหม่รอบที่สอง หรือครั้งที่สาม ผู้บริโภคสื่อมองว่าพฤติกรรมเช่นที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่เด็กเยาวชน ซึ่งเยาวชนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าการแต่งงานต้องเลิศหรู สินสอดแพงๆ ให้ความสำคัญกับวัตถุมากไป การเลิกราหรือการอย่างร้างกันกลายเป็นเรื่องธรรมดา นำไปสู่การแต่งงานครั้งที่สอง ครั้งที่สาม เป็นเรื่องโก้เก๋ เพราะได้ดูตัวอย่างจากหนัง ดูจากละคร ดูจากดาราล้วนแต่เป็นคนที่ถูกยอมรับจากสังคม

แล้วอย่างนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยผู้ว่าฯจะยังมีความคิดเรื่องกิจกรรมเช่นนี้อีกหรือ ผู้ว่าฯจะตอบลูกหลานได้อย่างไร เมื่อเยาวชนเห็นการแต่งงานเพียงการแสดงให้คนเห็น ให้คนรู้จัก ให้ดัง ให้ได้ออกทีวี และที่สำคัญเอาคนที่มีชื่อเสียงมาร่วมงานแต่งครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้สังคมมีค่านิยมที่ผิดเพี้ยนยอมรับการแต่งงานครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ฯลฯ อย่างมีหน้าหน้ามีตากลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ซึ่งขัดกับวัฒนธรรมปกเกอะญอ หากเยาวชนคิดตามเห็นถูกไปด้วย เชื่อว่าต่อไปที่แม่ฮ่องสอนจะมีคนเลียนแบบแต่งเพื่อดัง แต่งงานเพื่อได้ออกทีวี แต่งเพื่อสนองนโยบายการท่องเที่ยวที่น่าอดสู แล้วคุณค่าแก่นแท้ของวัฒนธรรมเราอยู่ที่ไหน เยาวชนจะเข้าใจไหม หรือทำเพียงเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อเงินเท่านั้น
พี่น้องชนเผ่าคิดอย่างไรกับกิจกรรมนี้ โดยเฉพาะคู่ที่เข้าร่วมกิจกรรมถ้าคิดว่าเราเป็นเพียงเครื่องมือของกิเลสบางอย่างยังมีเวลาที่จะคิดใหม่ ให้คู่แต่งงานกลับไปแต่งที่บ้านเกิดมีญาติ มีพี่ มีน้อง มีเพื่อนมาร่วมงานผมว่าแม้จะเป็นงานเล็กๆแต่ความเล็กๆนั้นจะมีคุณค่ามากกว่า อย่างน้อยเราไม่ได้ทำเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อเม็ดเงิน ฝากคิดดู

นายไวยิ่ง กล่าวอีกว่า งานวิวาห์นั้นถือว่าเป็นงานมงคลสมรสที่สำคัญอย่างยิ่ง มีเกียรติและศักดิ์ศรี ทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นอย่างยิ่งอีกงานหนึ่ง ในส่วนของเครือข่ายกะเหรี่ยงเราเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่จะเอาไปปรับเปลี่ยนผิดเพี้ยน โดยขาดความเข้าใจ และอาจทำให้คนอื่นหรือสังคมข้างนอกเข้าใจแบบผิดๆได้ จนนำไปสู่ความเสียหายและเข้าใจผิดได้ ที่สำคัญงานวิวาห์สมรส เป็นงานที่มีความเชื่อพิธีกรรมต่างๆ ละเอียดอ่อนมาก แต่ละเผ่ามีความแตกต่างกัน บางขั้นตอนหรือพิธีการความเชื่อบางอย่างไม่สามารถนำมาแสดงได้ เพราะไม่เพียงแค่ใส่ชุดชนเผ่าชาติพันธุ์แล้วบอกว่านี่คือวัฒนธรรมของเผ่านั้นๆได้ การนำเสนอ ประชาสัมพันธุ์ คุณค่าเอกลักษณ์บนความหลากหลายของกลุ่มชาตินั้น ควรจะมีการศึกษา เข้าใจอย่างถ่องแท้ (เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา) ไม่ใช่เป็นการโปรโมทโดยขาดความรอบคอบ ความเข้าใจ อาจทำให้ความเสียหายทางวัฒนธรรมที่ผิดเพี้ยนไปทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ที่สำคัญวัฒนธรรมชนเผ่าชาติพันธุ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีคุณค่า มีศักดิ์ศรีทั้งด้านจิตใจ ความเชื่อ สังคม วัฒนธรรม

ในส่วนของชนเผ่าลาหู่ ในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ก็ออกมาให้ความคิดเห็นเช่นกัน โดยนายศรชัย ไพรเนติธรรม เปิดเผยว่า ลาหู่ก็เช่นกัน ในการจะแต่งงานนั้นหมายความว่าชีวิตที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะอยู่กินกับคู่สมรสนั้นตลอดไป ผู้ประกอบพิธีกรรมก็สำคัญต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเท่านั้นที่จะประกอบพิธีกรรมนี้ อาหารการกินหมูไก่น้ำชาชุดเต็มยศฝ่ายหญิงจะต้องเป็นคนเย็บชุดเองไม่ใช่ซื้อมา เพื่อแต่งเฉพาะหน้า ในส่วนของการทำไร่ทำนา มาเป็นรวมกันความเชื่อทางศาสนาก็ต้องเหมือนกัน ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ จึงเรียนมา เข้าใจว่าทุกคนมีเจตนาดี แต่ขาดความเข้าใจ โดยละเลยการศึกษาทางวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้เข้าถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วอาจนำไปสู่ความเสียหายด้านวัฒนธรรม ทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ และส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมด้วย

นายไวยิ่ง ทองบือ เปิดเผยต่อไปว่า ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 นี้ กลุ่มเครือข่ายชนเผ่ากะเหรี่ยง 20 จังหวัด จะเดินทางเข้าไปยื่นหนังสือคัดค้านการจัดงานวิวาห์ชนเผ่า ต่อนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เพื่อแสดงจุดยืนต่อการคัดค้านการละเมิดวิถีชนเผ่าของชาวกะเหรี่ยงในครั้งนี้

สำหรับงานวิวาห์ชนเผ่า ทราบมาว่า เป็นการจัดขึ้นโดย ททท.แม่ฮ่องสอน ร่วมกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอนขอเชิญร่วมงานวิวาห์ชนเผ่าแม่ฮ่องสอน Mae Hong Son Ethnics Wedding Ceremony -สมรสหมู่ 12 คู่ชาติพันธุ์ -พบกับคู่ Re-wedding รับเชิญ บุ๋ม- ปนัดดา วงษ์ผู้ดี และเอกริน นิลเศรษฐี พร้อมชมขบวนแห่วัฒนธรรมไทใหญ่สุดอลังการโดยมีกำหนดการโดยคร่าวๆ ดังนี้ 3 มิถุนายน 2559 คู่สมรสหมู่ เดินทางไปจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนในเส้นทางอำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง เพื่อเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวของแต่ละอำเภอและถ่ายทำสกู๊ปเพื่อเผยแพร่ทางรายการโทรทัศน์ , 4 มิถุนายน 2559 คู่สมรสหมู่ร่วมตักบาตรเช้าที่วัดหนองจองคำ ร่วมขบวนแห่สุดอลังการรอบเมืองแม่ฮ่องสอนเพื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง ได้แก่ พระธาตุดอยกองมู อนุสาวรีย์พญาสิงหนาทราชา จากนั้นประปอบพิธีแต่งงานตามประเพณีชนเผ่าที่สวนหมอกคำ และร่วมงานเลี้ยงแสดงความยินดีในช่วงเย็น ที่โรงแรมอิมพีเรียล ธารา และในวันที่ 15 มิถุนายน 2559 คู่สมรสหมู่เดินทางกลับจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ในเส้นทาง อำเภอปางมะผ้า และอำเภอปาย เพื่อเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวของแต่ละอำเภอและถ่ายทำสกู๊ปเพื่อเผยแพร่ทางรายการโทรทัศน์

สำหรับคู่วิวาห์ชนเผ่าครั้งนี้ จะจัดให้มีทั้งสิ้น 12 คู่ 12 ชาติพันธุ์ มีทั้งคู่ที่ไม่เคยสมรสกันมาก่อน หรือคู่ที่เคยผ่านการสมรสร่วมกันมาแล้วทั้งชาวไทยและต่างประเทศ แต่ต้องการจะเข้าพิธีวิวาห์อีกครั้ง (Rewedding) เพื่อย้อนรำลึกถึงวันอันแสนสุข อย่างเช่นคู่ไฮไลท์ครั้งนี้ คือดารานักแสดง พิธีกรชื่อดัง อดีตนางสาวไทยคือ “บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี และ เอกริน นิลเศรษฐี” ที่เพิ่งจัดงานวิวาห์ไปเมื่อปีที่แล้ว โดยในปีนี้ทั้งคู่จะมาเข้าพิธีอีกครั้ง ด้วยชุดวิวาห์และพิธีแต่งงานแบชนเผ่า เพื่อเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ( พิธีสมรสช่วงเช้า เวลา 10.30 น. ณ สวนหมอกคำ และเชิญรับประทานอาหารกลางวัน , พิธีมงคลสมรสช่วงเย็น เวลา 18.30 น. ณ โรงแรมอิมพีเรียล ธารา และเชิญรับประทานอาหารเย็น )

ร่วมแสดงความคิดเห็น