เที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ได้ทั้งปี…ที่ “เมืองตาก”

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

โดยส่วนตัวผมคุ้นเคยกับ “จังหวัดตาก” พอสมควร เนื่องด้วยมีคนรู้จักที่นี่หลายคน ทำให้เดินทางมาเยือนตากบ่อยครั้ง แต่การเดินทางมาตากในครั้งล่าสุดนี้พิเศษกว่าครั้งไหนๆ ด้วยการเดินทางมาพร้อมคณะสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ในทริปส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก จับมือกันจัดขึ้น

การเดินทางในครั้งนี้จึงพิเศษกว่าครั้งไหนๆ กับการได้ไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวมากมายของจังหวัดตาก ทั้งในอำเภอเมือง อำเภอบ้านตาก อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เมียนมา” กับ “จังหวัดเมียวดี”

ซึ่งวันนี้จะขอพาคุณๆมาสัมผัสอำเภอเมืองตาก และอำเภอบ้านตากกันก่อน…!!!

ตากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง มีชื่อเดิมว่า “เมืองระแหง” ในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมาเมื่อสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองตากได้มีฐานะเป็นหน้าด่านที่สำคัญทางฝั่งตะวันตก และยังเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระมหาราชในอดีตถึง 4 พระองค์ด้วยกัน ที่เสด็จมาชุมนุมทัพ ณ เมืองตากแห่งนี้ ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงเรียกได้ว่า ตาก เป็น “แผ่นดินสี่มหาราช” ก็ว่าได้

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวาของแม่น้ำปิงมายั่งฝั่งซ้าย บริเวณตำบลบ้านระแหงจนกระทั่งทุกวันนี้

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ตัวอำเภอเมืองตากนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย โดยอันดับแรกที่มาเยือนก็ต้องมาสักการะ “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เป็นการขอพรและเอาฤกษ์เอาชัย ซึ่งที่นี่ตั้งอยู่บนถนนจรดวิถีถ่อง ที่นี่ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองตาก ภายในศาลมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ในพระอิริยาบถประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่หล่อโดยกรมศิลปากร

วัดสีตลาราม
วัดสีตลาราม

ต่อมาก็มาเที่ยววัดกัน กับ “วัดสีตลาราม” โดยเป็นวัดเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่ที่บ้านจีน ตำบลระแหง อำเภอเมือง ใจกลางย่านชุมชน ซึ่งชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดน้ำหัก” เพราะในสมัยก่อนบริเวณด้านตะวัดตกของวัดเป็นแม่น้ำปิง กระแสน้ำไหลหักวนเนื่องจากเมื่อถึงหน้าน้ำหลาก น้ำจากห้วยแม่ท้อ ซึ่งไหลแรงมากได้ไหลตัดกระแสน้ำของน้ำปิงให้เบนหักมายังท่าน้ำหน้าวัดนี้ ซึ่งต่อมาได้มีการถมดินสองฝั่งแม่น้ำ ร่องน้ำเปลี่ยนไป จึงไม่มีคุ่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลวนให้เห็นอีก

วัดสีตลาราม มีบรรยากาศที่ร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่มากมาย เป็นวัดที่มีกุฏิพระและโบสถ์ที่สร้างตามศิลปะยุโรป แม้แต่อาคารเรือนไม้เก่าแก่ในวัดก็เช่นกัน ต่อมาพระอุโบสถถูกไฟไหม้จึงสร้างขึ้นใหม่ หน้าอุโบสถมีวิหารคตสร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลายภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา

ตรอกบ้านจีน
ตรอกบ้านจีน

เสร็จจากเที่ยวชมวัดสีตลาราม ก็ถึงเวลาเดินชมสถาปัตยกรรมโบราณ ณ “ตรอกบ้านจีน” ซึ่ง ตรอกบ้านจีน ตั้งอยู่บนถนนตากสิน ใกล้กับวัดสีตลาราม เดินไปมาหากันได้สบายๆ ที่นี่เป็นชุมชนการค้าขายที่รุ่งเรืองมากในอดีต มีชาวจีนชื่อ “จีนเต็ง” อพยพเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ มาทำการค้าขายไปถึงเชียงใหม่ และได้ขยายกิจการลงมาถึงเมืองตาก ได้เข้าหุ้นส่วนค้าขายกับพ่อค้าจีนอีกสองคนชื่อ “จีนบุญเย็น” และ “จีนทองอยู่” ต่อมาได้เข้าเกี่ยวพันกับระบบราชการไทย กล่าวคือ “จีนบุญเย็น” ได้รับแต่งตั้งเป็น “หลวงนราพิทักษ์” ปลัดฝ่ายจีนเมืองตาก แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็น “หลวงจิตรจำนงค์วานิช” สังกัดกรมท่าซ้าย ส่วนจีนทองอยู่ ได้เป็นหลวงบริรักษ์ประชากรกรมการพิเศษเมืองตาก อากรเต็งและหุ้นส่วนทั้งสองใช้ยี่ห้อการค้าว่า “กิมเซ่งหลี” ห้างกิมเซ่งหลีได้เข้ารับช่วงผูกขาดการจัดเก็บภาษีอาการ ที่เมืองเชียงใหม่ จึงได้นำพวกคนจีนเข้ามาอยู่ละแวกบ้านนี้ และได้แต่งงานกับผู้หญิงชาวเมืองตากชื่อ “นางก้อนทอง” มีบุตรชายหนึ่งคน และตั้งบ้านเรือนทำการค้าขายขยายวงขึ้น

ในสมัยรัชกาลที่ 5 “จีนเต็ง” ได้มอบหมายให้ “หลวงบริรักษ์ประชากร” (จีนทองอยู่) เป็นผู้จัดเก็บภาษีฝิ่น อากรสุรา บ่อนเบี้ย และหวย ก.ข. จนกระทั่ง พ.ศ. 2452 รัฐบาลเริ่มเข้ามาจัดเก็บเอง ภายหลังละแวกหมู่บ้านนี้จึงมีแต่ลูกหลานจีนดำเนินการค้าขาย ปลูกบ้าน ร้านค้า เริ่มมีถนนหนทางแต่เป็นเพียงทางเดินเท้า ร้านค้าจะมีของขายทุกอย่าง ในซอยตรอกบ้านจีนจะมุงหลังคาบ้านชนกัน จึงเป็นที่ร่มใช้เดินถึงกันได้ตลอด มีร้านขายถ้วยชาม ร้านผ้า ร้านหนังสือเรียน ร้านเครื่องอัฐบริขารในการบวชพระ

IMG_4682

สถานที่ควรพูดถึงในสมัยนั้น คือ สะพานทองข้ามปากคลองน้อย ซึ่ง “คุณย่าทอง ทองมา” เป็นผู้สร้างและมีเสาโทรเลข ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกว่า เสาสูง ต่อมามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย “นายหมัง สายชุ่มอินทร์” ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรคนแรก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในละแวกนั้น
สำหรับตรอกบ้านจีนในสมัยนั้นมี 3 หมู่บ้าน หมู่บ้านเสาสูง หมู่บ้านปากครองน้อย หมู่บ้านบ้านจีน ต่อมาปี 2495 ทางเทศบาลได้รื้อสะพานทองและถมเป็นถนน เริ่มมีรถยนต์ใช้และหมู่บ้านก็เริ่มกั้นเขตแดนล้อมรั้ว ปี 2497 มีรถยนต์เล็กๆ วิ่งเข้าออกได้ ตรอกบ้านจีนเริ่มซบเซาลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2484 ร้านค้าปิดอพยพไปอยู่ที่อื่นเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง การค้าขายจึงได้ขยายขึ้นไปทางทิศเหนือ ปัจจุบันบ้านจีนจึงเหลือแต่บ้านเก่าๆ ซึ่งยังคงลักษณะของสถาปัตยกรรมเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเดินทางเที่ยวชมสภาพบ้านเรือนโดยรอบและวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชุมชนตรอกบ้านจีน

IMG_4688

โดยตรอกบ้านจีนแห่งนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความคลาสสิคของบ้านเก่า…!!!

สะพานแขวน หรือ สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
สะพานแขวน หรือ สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

เดินเพลินๆชมความคลาสสิคของตรอกบ้านจีนกันไปแล้ว ทีนี้เมื่อถึงยามเย็น ก็ได้เวลามาเดินเล่นรับลมเย็นๆริมสายน้ำปิงกัน ณ บริเวณสวนสาธารณะริมแม่น้ำปิง ที่มีทิวทัศน์สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนยามเย็นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งที่นี่หนุ่มสาวและผู้คนเมืองตากนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจกัน โดยมี “สะพานแขวน” หรือ “สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่น สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก เพื่อสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นสะพานข้ามน้ำปิง ขนาดกว้าง 2.50 เมตร ยาว 700 เมตร ฐานรากและเสาเป็นคอนกรีต จำนวน 5 จุด พื้นทำด้วยไม้โยง ยึดด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ ซึ่งในอดีตสามารถใช้รถจักรยานและรถจักรยานยนต์สัญจรไปมาได้ แต่ปัจจุบันเป็นสะพานสำหรับเดินชมทิวทัศน์แม่น้ำปิง และมีการประดับไฟสวยงามในยามค่ำคืน

IMG_4679

วัดพระบรมธาตุ
วัดพระบรมธาตุ

เที่ยวอำเภอเมืองตากจนหนำใจแล้ว ก็ได้เวลาขับรถขึ้นเหนือกันมาเยือน “อำเภอบ้านตาก” ที่หากแวะมาอำเภอนี้ พลาดไม่ได้เลยที่ต้องมาเยือน “วัดพระบรมธาตุ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดพระเจ้าทันใจ” วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่มีเจดีย์สีทองทรงชเวดากอง ถือได้ว่าเป็นวัดที่สวยงามมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตาก โดยการที่ได้ไปกราบสักการะพระบรมธาตุโดยเฉพาะคนที่เกิดปีมะเมีย ถือเป็นสิริมงคลในชีวิตเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระอุโบสถที่มีประตูไม้สักแกะสลักสวยงาม มีพระพุทธรูปปางสมาธิชื่อดัง “หลวงพ่อทันใจ” ประดิษฐานอยู่

วัดพระบรมธาตุ
วัดพระบรมธาตุ
หลวงพ่อทันใจ
หลวงพ่อทันใจ

งานนี้หากคุณๆมีเวลาว่าง อย่าลืมบรรจุจังหวัดตาก เป็นหนึ่งในโปรแกรมท่องเที่ยวของคุณด้วยนะครับ มาเยือนเมืองตากสักสองสามวัน แล้วคุณจะรู้ว่า…”ตาก” มีของดีเพียบ ใช่ว่าเป็นเพียงเมืองผ่าน…!!!

ร่วมแสดงความคิดเห็น