ผวจ.สั่งยกเลิก วิวาห์ชนเผ่าฯ

ปัญหาวิวาห์ชนเผ่าบานปลาย ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และประธานสภาพลเมือง เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมเวทีสภาพลเมืองสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ ประธานมูลนิธิปัญญาชาติพันธุ์ ชาวกะเหรี่ยง ระบุ การเปลี่ยนชื่องานจาก วิวาห์ชนเผ่า เป็น สมรสหมู่แม่ฮ่องสอน ต้องจัดพิธีให้เหมือนประเพณีที่แท้จริงของแต่ละเผ่า เท่านั้น นอกจากนั้นยังเน้นประเด็นที่ว่า มีการแต่งงานรอบสอง ซึ่งถือว่า เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนและถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดบาปต่อพระเจ้า สะท้อนในอนาคตเด็กชนเผ่าเลียนแบบดารา ส่งผลให้สังคมชนเผ่าเสื่อมถอยไม่เป็นปึกแผ่นเหมือนโบราณกาลที่ผ่านมา ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สั่งยกเลิกงานอย่างกระทันหันไปแล้ว

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 นายไวยิ่ง ทองบือ ประธานมูลนิธิปัญญาชาติพันธุ์ / Wisdom 0f Ethnic Foundation : WISB.และ ประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ( IMN ) , ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยง เพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการที่ทางองค์กรชนเผ่าชาวกะเหรี่ยงได้มีการคัดค้านงานวิวาห์ชนเผ่าที่จะจัดให้มีขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 4 – 5 มิถุนายน 2559 ที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยมี ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน เป็นแม่งานร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้น หลังจากที่ได้มีการคัดค้านออกไป พบว่า ทางกลุ่มผู้จัดงาน ได้มีการเปลี่ยนชื่องานขึ้นมาใหม่ จาก งานวิวาห์ชนเผ่า เปลี่ยนเป็น งานสมรสหมู่แม่ฮ่องสอน แทน ซึ่งการเปลี่ยนชื่องานจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่คณะผู้จัดงานจะต้องจัดพิธีให้เป็นไปตามประเพณีโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่จัดเพื่อเพียงแค่ต้องการโปรโมทการท่องเที่ยวโดยไม่ใส่ใจต่อ ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม ประเด็นที่ได้มีการคัดค้านแต่แรกนั้น ทางเราได้คัดค้านเรื่องการแต่งงาน ที่ไม่ถูกต้องตามประเพณีที่แท้จริง และยิ่งมีการเอาดาราที่มีชื่อเสียงมาแต่งงานใหม่อีกครั้งถือว่า เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากประเพณีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง จะสามารถแต่งงานได้เพียงครั้งเดียวและต้องทำพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้น การเอาดารามาแต่งงานใหม่ จะส่งผลให้เยาวชน ซึ่งปัจจุบันจะเลียนแบบดารา และเอาดาราเป็นแบบอย่าง จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าในอนาคต และทำให้ชนเผ่ารุ่นใหม่ ๆ เริ่มจะไม่ค่อยกลัวผีปู่ผีย่า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้สังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การจัดงานดังกล่าว ถือเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีของชนเผ่า โดยเฉพาะในเมืองแม่ฮ่องสอน ที่เป็นเมืองแห่งชนเผ่า ที่อาศัยอยู่มานานหลายชั่วอายุคน การจัดงานเพียงเพื่อต้องการโปรโมทการท่องเที่ยว แต่กลับเป็นการกระทำที่ลดคุณค่าวิถีชนเผ่าลงไป และตอบสนองธุรกิจการท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว มากกว่าที่จะเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมชนเผ่าอย่างให้อภัยไม่ได้ ในศาสนาคริสต์หากแต่งงานรอบสองถือว่าเป็นการผิดบาป กระทำผิดต่อพระเจ้าและลบหลู่พระเจ้าอีกด้วยเช่นกัน
นายประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาพลเมืองแม่ฮ่องสอน และ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้โพสความคิดเห็นเรื่องวิวาห์ชนเผ่าแม่ฮ่องสอน ลงในเฟซบุค โดยระบุว่า คุณค่า กับ มูลค่า เส้นฟางที่ละเอียดอ่อน จากการที่ได้รับเสียงสะท้อนจากเครือข่ายชาติพันธุ์ เกี่ยวกับการจัดงาน “วิวาห์ชนเผ่าแม่ฮ่องสอน”ในวันที่ 4-5 มิถุนายน 2559 นี้ว่า “งานวิวาห์ของชนเผ่า ถือว่าเป็นงานมงคลสมรสที่สำคัญยิ่ง มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี ไม่สมควรนำมาสร้างมูลค่าอย่างผิดเพี้ยน หลายฝ่ายได้สะท้อนมุมมอง จากความรู้สึกในความเป็นชาติพันธุ์จริงๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอน อาทิ 1.วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เอาไปปรับเปลี่ยน ผิดเพี้ยนโดยขาดความเข้าใจ อาจทำให้คนอื่นหรือสังคมข้างนอกเข้าใจแบบผิดๆจะนำไปสู่ความเสียหายได้ 2.งานมงคลสมรสของชนเผ่า เป็นงานที่มาจากวิถีและความเชื่อ พิธีการต่างๆละเอียดอ่อนมาก แต่ละชนเผ่ามีความแตกต่างกัน ขั้นตอนบางขั้นตอนมาจากความเชื่อ ไม่สามารถนำมาแสดงได้ เพราะไม่เพียงแต่ใส่ชุดชนเผ่า แล้วบอกว่านี่คือวัฒนธรรมของชนเผ่า นั่นไม่ใช่วัฒนธรรมที่ดีงาม 3.การนำเสนอประชาสัมพันธ์ คุณค่าเอกลักษณ์บนความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ควรมีการศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน (เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา) ไม่ใช่เป็นการโปรโมทโดยขาดความรอบคอบ อาจทำให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมวัฒนธรรมนั้นได้ 4.วัฒนธรรมชนเผ่าชาติพันธุ์ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ทั้งด้านจิตใจ สังคมวัฒนธรรมและความเชื่อ (ไม่ใช่สัตว์ที่ไหน หมู หมา กา ไก่) ที่เรารับมาแต่งใส่ชุดชนเผ่า แล้วบอกว่า “นี่คือวัฒนธรรมชนเผ่า”

ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเรียนมาเพื่อทราบ เข้าใจว่าทุกคนมีเจตนาดี แต่ขาดความเข้าใจ โดยละเลยการศึกษาทางวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้ เข้าถึงวัฒนธรรมของชนเผ่าชาติพันธุ์ อาจทำให้เกิดความเสียหายด้านวัฒนธรรม ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

ผมได้วิเคราะห์ ใคร่ครวญ จากเสียงสะท้อน และความรู้ที่พึงมีอยู่บ้างว่า….เมื่อพูดถึงวัฒนธรรม ในปัจจุบันมักพูดกันถึงเรื่อง “คุณค่า กับ “มูลค่า” การนำวัฒนธรรมมาทำให้เกิดมูลค่า เป็นนโยบาย เป็นการสร้างเสริมด้านเศรษฐกิจวิธีหนึ่งโดยนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ รายได้ต่อประชาชนทุกระดับ สำคัญอยู่ตรงที่ว่า วิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น มันจะไปกระทบต่อ “คุณค่า” ทางวัฒนธรรมหรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องพึงสังวร

ผมไม่มีความเห็นเป็นการส่วนตัว แต่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่เวทีสภาพลเมืองในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 นี้ ตามคำเรียกร้อง ครับ ลงชื่อประธานสภาพลเมืองแม่ฮ่องสอน และประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ด้านนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของหลาย ๆ ฝ่ายที่ได้มีการคัดค้านเรื่องการจัดงานวิวาห์ชนเผ่า ที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 4-5 มิถุนายน 2559 นั้น ตนเห็นว่า การคัดค้านดังกล่าว เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเห็นควรที่จะให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรมชนเผ่าอย่างแท้จริง จึงได้เห็นควรสั่งให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว ไปแล้ว และขอบคุณ สภาชนเผ่าทุกกลุ่มทุกเผ่า ที่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานของจังหวัดต่อไปในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น