เปิดโครงการสานพลังงานประชารัฐนำร่อง 150 ร้านเข้าร่วม

1464760182895

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 1 มิ.ย.นี้ นายดิเรก ตนพยอม รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมนายอุทัย นพคุณวงศ์ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 1 ร่วมกันเปิดโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ที่ห้องประชุมสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ต.แม่เหียะ อ.เมือง  จ.เชียงใหม่

นายดิเรก ตนพยอม รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการลงนามและประกาศเจตนารมณ์ “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรกับสมาคมผู้ประกอบการด้านปุ๋ย สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ จำนวน 7 สมาคม ผู้ประกอบการ 238 ราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะ ประชารัฐ เพื่อให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ ที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนต่ำลงมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การสร้างเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพ 2) พัฒนาต้นแบบความร่วมมือด้านปัจจัยการผลิตตามแนวทางประชารัฐในพื้นที่แปลงใหญ่ 3) จัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ 4) กิจกรรมส่งเสริมการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต 5) ส่งเสริมร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ ซึ่งคาดว่าจะเกิดเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพด้านพืชที่เข้าถึงเกษตรกร สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และได้ต้นแบบด้านปัจจัยการผลิตตามแนวทางสานพลังประชารัฐที่มีประสิทธิภาพ สามารถขยายผลต้นแบบไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะการทำการเกษตรในรูปแบบเดียวกันได้

นายอุทัย นพคุณวงศ์ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 1 กล่าวว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จึงกำหนดจัดงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทาง การเกษตร ในวันที่  1  มิถุนายน  2559 เป็นโครงการนำร่อง ณ ห้องประชุม 1 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1  โดยมีรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรร่วมมอบนโยบาย และมอบตราสัญลักษณ์ประจำโครงการแก่ ผู้ประกอบการร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตในเขตภาคเหนือตอนบนที่เข้าร่วมโครงการฯดังกล่าว

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 มีภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมวิชาการเกษตรอีกด้านหนึ่งคือ การควบคุมและกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร   และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นการควบคุมคุณภาพปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กฏหมายกำหนดไว้   เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ภายใต้นโยบายของรัฐบาลในการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร   ในนามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ  ในราคายุติธรรม   โดยความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตในพื้นที่รับผิดชอบในเขตภาคเหนือตอนบน   ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 4,320 ร้าน ในปัจจุบันเป็นการสานต่อจากที่มีการร่วมลงนามระหว่างกลุ่มผู้ผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในนามสมาคมต่างๆจำนวน 7 สมาคม และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กรมวิชาการเกษตร  กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทรัลดวงทารา ศูนย์ราชการ กรุงเทพมหานคร  โดยมีข้อตกลงว่าจะมีการลดราคาปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรในฤดูการผลิตที่จะถึงนี้  พร้อมมีการตรวจสอบคุณภาพปัจจัยการผลิตตามขั้นตอนโดยกรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการการรันตีว่าเกษตรกรจะได้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคายุติธรรมหรือถูกลง  ภายหลังจากที่เกษตรกรประสบภาวะภัยแล้งมานานเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกในช่วงที่ผ่านมา

ในโครงการนี้ทาง สวพ.1   จึงได้เชิญผู้ประกอบการร้านจำหน่าย  สหกรณ์การเกษตรสหกรณ์สาธิตการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.   และร้านค้าทั่วไปที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเข้าร่วมฟังคำชี้แจงโครงการ และรับมอบป้ายตราสัญลักษณ์โครงการประชารัฐในวันนี้  สวพ.1 เชิญรองอธิบดีกรมวิชา การเกษตรนายดิเรก  ตนพะยอม เป็นผู้เปิดงาน  ชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ  และมอบป้ายตราสัญลักษณ์  พบปะกับร้านค้าปัจจัยการผลิต  โดยมีร้านค้าต่างๆแจ้งการเข้าร่วมในครั้งแรกประมาณ 166 ร้านค้า และอาจมีการสมัครเข้าร่วมเพิ่มจำนวนขึ้นอีกในโอกาสต่อไป

จากโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรสามารถซื้อสินค้าปัจจัยการผลิตจากร้านค้าที่มีป้ายตราสัญญลักษณ์ใกล้บ้าน   และมีการติดตามการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดโครงการ(ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม 2559) เชื่อว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 20,000 ล้านราย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมวิชาการเกษตร  กรมการข้าว  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ทั้งนี้เพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่าเกษตรกรจะได้มีการใช้ปัจจัยการผลิตที่ดี   ส่งผลให้ได้รับผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีต่อไป.

ร่วมแสดงความคิดเห็น