7 สมาคมเดินหน้า สานพลังประชารัฐ

b3 w=9h=6

รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนามความร่วมมือ 7 สมาคม เดินหน้าเผยโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในราคาที่เป็นธรรม สร้างเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกร พร้อมเริ่มดำเนินการ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา เผยมีร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 20,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามและประกาศเจตนารมณ์ “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมการค้าปัจจัยการผลิต จำนวน 7 สมาคม มีผู้ประกอบการ 238 ราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เร่งบูรณาการขับเคลื่อน “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีแผนดำเนินการรองรับฤดูการผลิตปี 2559/60 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในราคาที่เป็นธรรม พร้อมสร้างเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกร ขณะเดียวกันยังมุ่งสร้างต้นแบบความร่วมมือด้านปัจจัยการผลิตภายใต้แนวทางประชารัฐ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งคาดว่าจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการผลิตของเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพ 2.พัฒนาต้นแบบความร่วมมือด้านปัจจัยการผลิตตามแนวทางประชารัฐในพื้นที่แปลงใหญ่ 3. จัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ 4. กิจกรรมส่งเสริมการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต 5.ส่งเสริมร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ ซึ่งคาดว่าจะเกิดเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพด้านพืชที่เข้าถึงเกษตรกร สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และได้ต้นแบบด้านปัจจัยการผลิตตามแนวทางสานพลังประชารัฐที่มีประสิทธิภาพ สามารถขยายผลต้นแบบไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะการทำการเกษตรในรูปแบบเดียวกันได้
รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ภายหลังจากการลงนาม MOU แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 59 จะเริ่มดำเนินกิจกรรม 3 ส่วน ได้แก่ 1.การรักษาคุณภาพ โดยผู้แทนทั้ง 7 สมาคม 238 ราย จะติดตามแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ เกษตรกรสามารถคืนสินค้าตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ ได้ 2.การลดราคา อาทิ การลดราคาปุ๋ย เหลือกระสอบละ 20 บาท จำนวนกระสอบละ 50 กิโลกรัม หรือลดราคาปุ๋ย ตันละ 400 บาท จำนวน 1 ล้านตัน รวมเป็นเงินที่ลดลง 400 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการนำร่องในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. 59 โดยจะลดราคาปุ๋ยตันละ 400 บาท จำนวน 120,000 ตัน รวมเป็นเงินที่ลดลง 48 ล้านบาท สำหรับปุ๋ยส่วนที่ไม่ได้ลดราคา จะมีคูปองมูลค่า 5 – 50 บาท แนบไปกับบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ จะมีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 และการลดราคาเมล็ดพันธุ์ด้วย และ 3.การอบรมให้ความรู้ จะมีการจัดอบรมเกษตรกรให้มีความรู้ด้านการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ช่วง มิ.ย. – ก.ย. 59 รวม 40 จังหวัด เกษตรกร 48,000 คน และการจัดทำป้ายรณรงค์การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถซื้อปัจจัยการผลิตที่เข้าร่วมโครงการได้จากร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 20,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะมีเครื่องหมาย “ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ Q แสดงอยู่ที่หน้าร้าน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น