รมช.ศึกษา ห่วงเด็กชนเผ่า พบ10%ยังอ่านเขียนไม่ได้

7

รมช.ศึกษา มอบนโยบายประชารัฐร่วมคิดแก้ไขให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ เขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 และ เขต 2 ส่วนใหญ่นักเรียนชนเผ่า ผลการประเมินพบว่า มีนักเรียนชั้น ป.1 ทั้งหมด 2,574 คน ไม่ผ่านการประเมิน 245 คน คิดเป็นร้อยละ 9.52
เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันนี้ 2 มิ.ย.59 ที่หอประชุมโรงเรียนห้องสอนศึกษา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ นายสมรักษ์ ถวาย ศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เดินทางไปมอบนโยบายประชารัฐร่วมคิดแก้ไขให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข ผู้ปกครองนักเรียน และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 600 คน โอกาสนี้ได้มอบอุปกรณ์การเรียนให้แก่นักเรียนด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนโยบายพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อจบ ป.1 อ่านออกเขียนได้ และมีมาตรการประเมินผลให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในปีการศึกษา 2558 ที่ผ่านมา ได้ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทย กำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้นักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนดำเนินการตามสภาพความพร้อมและบริบทท้องถิ่น และมีการติดตามช่วยเหลือดูแลโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ประเมินการอ่านการเขียนเพื่อการพัฒนาเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดให้ผู้บริหารโรงเรียนกำกับนิเทศการเรียนการสอนของครู ส่วนครูผู้สอนภาษาไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีสอน โดยเสนอแนวทางการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักพัฒนาการทางสมอง ให้พลิกโฉมโรงเรียน ป1 ให้อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี
ซึ่งจากการประเมินการอ่านการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้น ปง1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา มีนักเรียนผ่านการประเมินการอ่านออกเขียนได้ทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 96.06 อยู่ในระดับปรับปรุง ร้อยละ 3.94 ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 และเขต 2 มีนักเรียนสวนใหญ่เป็นนักเรียนชนเผ่า ผลการประเมิน พบว่า นักเรียนชั้น ป.1 ทั้งหมด 2,574 คน ไม่ผ่านการประเมิน 245 คน คิดเป็นร้อยละ 9.52 ซึ่งสาเหตุพบว่านักเรียนที่ไม่ผ่านการประเมิน ส่วนใหญ่ขาดเรียนบ่อย เป็นนักเรียนชนเผ่า ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง และบางส่วนมีแนวโน้มบกพร่องทางการเรียนรู้ ไม่รู้จักพยัญชนะ สระ จึงทำให้ประสมคำไม่ได้ เพราะการฝึกทักษะ เนื่องจากไม่มาโรงเรียน ซึ่งชุมชนต้องช่วยส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนด้วย เพื่อเป็นการเปิดแนวทางการบริหารจัดการศึกษาใหม่โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น