รู้ทันโรคไข้เลือดออก

1

ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในทุกปี เป็นภัยร้ายใกล้ตัว ที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นเราควรมาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น รู้วิธีป้องกันโรค การดูแลตัวเองและคนใกล้ตัวเบื้องต้นเมื่อสงสัยว่าเป็นโรคนี้ และเมื่อไหร่จะต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้เราและคนใกล้ตัวที่รารักปลอดภัยจากโรคนี้
โรคไข้เลือดออก เป็นปัญหาสาธารณสุขทั้งของประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้นสามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี แต่มักจะระบาดในช่วงฤดูฝนเพราะมียุงลายชุกชุม หากมีอากาศร้อนร่วมด้วยก็จะทำให้มีการระบาดมากขี้น เนื่องจากสภาวะดังกล่าวส่งผลให้ยุงลายวางไข่เร็วขึ้น เติบโตได้เร็วขึ้น ทำให้แพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น โรคไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงวัย ส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุ ประมาณ 5-24 ปี
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ปัจจุบันมี 4 สายพันธุ์ มีความรุ่นแรงไม่ได้แตกต่างกัน ในประเทศไทย มียุงลายอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่เป็นพาหะนำโรค มีอยู่เพียง 2 ชนิด ได้แก่ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยที่ยุงลายมักจะออกหากินในเวลากลางวัน ชอบเกาะตามสิ่งของที่ห้อยแขวนไม่ชอบอยู่ที่ที่มีแสงแดดหรือลมแรงๆ จึงชอบอยู่ในบ้าน และมักชอบไปวางไข่ในบริเวณที่มีน้ำนิ่งใสหรือตามน้ำขัง
การติดต่อของโรคไข้เลือดออก เริ่มต้นจากการที่ยุงลายไปกัดคนที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน โดยเชื้อจะเข้าไปอยู่ในตัวยุงลาย แล้วยุงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียง ก็จะแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ต่อไป โรคไข้เลือดออกโดยส่วนใหญ่อาการ มักจะไม่รุนแรง สามารถทานยาลดไข้ พักผ่อน แล้วสังเกตอาการที่บ้านได้ หรือจะมาตรวจที่โรงพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก จะมีผู้ป่วยเพียงบางคนที่มีอาการรุนแรงต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาล หรือ อาการหนักมากต้องนอนรักษาที่ห้องผู้ป่วยวิกฤติ ( ICU ) จะเห็นว่าในผู้ป่วยแต่ละคน มีการตอบสนองต่อโรคที่แตกต่างกัน ซึ่งความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกจะเกิดจาก 1. มีการรั่วของพลาสมาออกจากหลอดเลือด เนื่องจากเกิดรูชั่วคราวขึ้นที่หลอดเลือดทำให้น้ำรั่วออกไป แต่เม็ดเลือดแดง ไม่ออกไปด้วย ทำให้เกิดเลือดข้นขึ้น จะเป็นชั่วคราว 2-3 วัน แล้วรูรั่วจะปิดเองแต่อาจมีผู้ป่วยบางส่วนที่รูรั่วใหญ่มาก ให้น้ำเกลือไม่ทัน ทำให้มีอาการช็อกตามมา 2. มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร เพราะเกล็ดเลือดต่ำ หากเลือดออกมากๆ อาจช็อกได้ 3. มีอวัยวะบางอย่างล้มเหลว เช่น มีน้ำรั่วไปที่ปอดหรือเลือดออกในปอด อาจมีตับทำงานผิดปกติ ไตวายหลังจากเกิดอาการช็อกเป็นเวลานาน ภาวะที่รุนแรงเหล่านี้มีโอกาสพบได้น้อย แต่ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนที่เรารักอย่างแน่นอน
อาการของโรคไข้เลือดออก แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 : ระยะไข้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยเฉียบพลัน 2-7 วัน กินยาลดไข้ มักจะไข้ไม่ลด มีหน้าแดง ตาแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ส่วนใหญ่ตจะไม่มีน้ำมูกหรือไอ อาจมีเจ็บคอ ตรวจพบคอแดงได้ อาจมีหลอดเลือดฝอยเปราะและแตกง่าย มีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามแขน ขา ตัว อาจมีเลือดกำเกาไหล เลือดออกตามไรฟันได้ อาจมีปวดท้อง มีอาการปวดใต้ชายโครงขวา เนื่องจากมีตับโตได้
ระยะที่ 2 : ระยะวิกฤติหรือช็อก มักเกิดช่วงวันที่ 3-7 ของโรค เป็นระยะที่มีการั่วของพลาสมาออกนอกหลอดเลือด ซึ่งมักเกิดช่วงสั้นๆ ก่อนไข้ลงหรือพร้อมๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก จะมีอาการกระสับกระส่าย อาจมีเหงื่อออกมากและมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อย อาจซึมลงได้ นอกจากนี้อาจมีอาการเลือดออกอย่างรุนแรงในทางเดินอาหาร มีอาเจียนเป็นเลือด มีถ่ายเป็นเลือดหรือถ่ายสีดำได้ และจะเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังช็อก หากไม่ได้รับการรักษาภาวะช็อก หากไม่ได้รับการรักษาภาวะช็อกอย่างถูกต้องทันที
ระยะที่ 3 : ระยะฟื้นตัว ระยะนี้ของโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นค่อยข้างเร็วภายหลังไข้ลง 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการ ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่พบบ่อยในระยะนี้คือ มีความอยากอาหาร ปัสสาวะออกมาก ชีพจรเต้นช้า อาจมีผื่น ลักษณะเป็นวงขาวๆ ท่ามกลางผื่นสีแดง ระยะนี้อาจจะใช้เวลาอยู่ประมาณ 2-3 วัน รวมระยะเวลาอาการของโรคไข้เลือดออกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วัน
เมื่อไหร่ที่จะต้องรีบมาพบแพทย์ คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากจะทราบ อย่างที่กล่าวไป ในระยะไข้อาจมีอาการไม่หนักมาก แต่ถ้ามีอาการอยู่ในระยะช็อก อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงของช็อก หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำมากๆ เลือดออกง่าย ควรรีบมาตรวจที่โรงพยาบาล
การดูแลรักษาโรคไข้เลือดออก ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะต่อเชื้อไข้เลือกออก ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรคก็อยู่ในระหว่างการศึกษา ดังนั้นการรักษาโรคไข้เลือดออกจึงเป็นการรักษาตามอาการแบบประคับประคอง อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ว่าไข้เลือดอกส่วนใหญ่มักจะมีอาการ ไม่รุนแรง ซึ่งสามารถดูแลตัวเองและคนใกล้ตัวเบื้องต้นได้ โดยในระยะไข้ ควรเช็คตัวด้วยน้ำธรรมดาเพื่อลดไข้ ทานยา ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน และระคายเคืองกระเพาะอาหาร อาจทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเวลาที่ไข้สูงเท่านั้น ให้ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง การใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลมากไป จะมีภาวะเป็นพิษต่อตับได้ เรื่องของอาหาร ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ดื่มน้ำผลไม้หรือเกลือแร่จิบครั้งละน้อยบ่อยๆ ไม่ควรทานอาหารหรือน้ำที่มีสีแดงหรือสีดำ เพราะหากมีอาเจียนจะแยกยากว่าสิ่งที่อาเจียน ออกมาเป็นอาหารที่ทานเข้าไปหรือว่าเป็นเลือดที่ออกมาจากทางเดินอาหาร บางรายอาจมีอาการชักได้ถ้าไข้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในทารกและเด็กเล็กที่มีไข้สูง ถ้าเด็กมีชักอย่างต่อเนื่อง ดูซึมลง ควรมาตรวจที่โรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการ อยู่ในระยะช็อก ควรได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดที่โรงพยาบาลในปริมาณที่เหมาะสม โดยจะมีการตรวจติดตามอาการ สัญญาณชีพ ปริมาณ ปัสสาวะ ผลเลือด รวมถึงเป้าระวังภาวะแทรกซ้อนตามอวัยวะต่างๆ อย่างใกล้ชิด
การป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออก เนื่องจากโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยป้องกันการแพร่ของยุง ป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ หรือป้องกันไม่ให้ไข่กลายเป็นยุง เน้นที่การควบคุมลูกน้ำ ด้วยการกำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการณณรงค์พิชิตไข้เลือดออก โดยหลัก 5 ป. ข.คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดไข่ยุงลาย เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายก่อนที่จะกลายเป็นตัวยุงลายก่อนที่จะกลายเป็นตัวยุงเต็มวัยทุกสัปดาห์ ซึ่งมาตรการ 5 ป. ได้แก่ ป. ที่ 1. ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป. ที่ 2 เปลี่ยนน้ำ ทุก 7 วัน ป. ที่ 3 ปล่อยปลาหางนกยูงที่กินลูกน้ำยุง ในอ่างที่ปลูกต้นไม้ และภาชนะที่ไม่สามารถปิดฝาได้ ป. ที่ 4 ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ตรวจรอบบ้าน ว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่ หากมีให้กำจัด ป. ที่ 5 ปฏิบัติ ขอให้ลงมือปฏิบัติเป็นประจำ ทุกๆ 5-7 วัน จนเป็นนิสัย ส่วนมาตรการ 1 ข. คือการขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ เพียงง่ายๆ แค่นี้เราก็จะสามารถลดปริมาณยุงลายและลดการเกิดโรไข้เลือดออกได้

//นพ.ธีรศักดิ์ ธิมินกุล
รพ.แมคคอร์มิค//

ร่วมแสดงความคิดเห็น