แนวโน้มไข้เลือดออก เชียงใหม่ดีขึ้น

no_pic01
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เผยแนวโน้มโรคไข้เลือดออกดีขึ้นพบผู้ป่วยลดลง เมื่อเทียบกับปี 2558 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน แนะอย่าลืมมาตรการ 3 เก็บ กำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ป้องกัน 3 โรค      ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทำต่อเนื่อง ทั้งที่โรงเรียนศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก บ้าน ที่ทำงาน โรงพยาบาล
นางชลลิสา จริยาเลิศศักดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ารายงานตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 – 24 กรกฎาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 917 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ        25 – 34 ปี รองลงมาคืออายุ  อายุ 15 – 24 ปี 35 – 44 ปี และอายุ 45 – 54 ปี ตามลําดับ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันทราย อำเภอแม่ริม และอำเภอดอยสะเก็ด
มาตรการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้
จากการสุ่มสำรวจพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่เกิดโรค ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2559 พบว่า ยังคงมีลูกน้ำยุงลายในบ้านและบริเวณบ้านในปริมาณมากเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเกือบทุกอำเภอ โดยเฉพาะภาชนะรองรับน้ำใช้ในครัวเรือน ภาชนะน้ำขังนอกและในบ้านที่ไม่ได้รับการดูแล สอดส่อง เช่น จานรองกระถาง    จานรองขาตู้กันมด หลังตู้เย็น เศษกระป๋อง เศษขยะ ยางรถยนต์ ตอไม้ แจกัน เป็นต้น โดยส่วนหนึ่งขาดความร่วมมือจากเจ้าของบ้านและชุมชน บางครัวเรือนมีทัศนคติว่าเป็นหน้าที่ของ อสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องมาดำเนินการให้
โรคไข้เลือดออก อาการส่วนใหญ่มักจะมีไข้สูงลอย ไข้ไม่ลด นอนซม เด็กโตจะปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ในระยะไข้นี้บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆไป และอาจปวดที่ชายโครงขวา หากมีไข้สูง ให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้ อย่าซื้อยาแก้ปวดที่มีระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะเสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหารอันตรายถึงเสียชีวิต แต่หากกินยาแล้วไข้ ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาต่อเนื่องให้  พ้นระยะอันตราย และในช่วงที่ไข้เริ่มลดขอให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะช็อกได้ โดยผู้ป่วยจะซึมลง อ่อนเพลีย อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
  ทั้งนี้  หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 และเบอร์โทรศัพท์:053-211048-50 ต่อ 110 ตลอด 24 ชั่วโมง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น