บ้านสามขา…กับการแก้ปัญหา “หนี้สิน” ที่เรื้อรัง

DSCF0886 ช่วงระยะ 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาที่สร้างผลกระทบแก่พี่น้องชาวบ้านสามขามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นปัญหาเรื่อง “หนี้สิน” จากรายงานตัวเลขล่าสุดพบว่า ชาวบ้านสามขาทั้งหมู่บ้านจำนวน 152 ครัวเรือนเป็นหนี้รวมกันถึงกว่า 20 ล้านบาท ทั้งหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเพื่อการลงทุน การศึกษา การทำเกษตรกรรมและเครื่องใช้อุปโภคบริโภค
ภาวะการเป็นหนี้สินนี่เอง ส่งผลให้ชุมชนตื่นตระหนก เกิดความหวั่นเกรงต่อสภาพการเป็นหนี้ จนทำให้คนในชุมชนหันกลับมาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ค้นหาเหตุแห่งการเป็นหนี้และผลจากการเกิดหนี้

ชาวบ้านสามขาก็เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป ที่ดำเนินชีวิตอยู่บนความเรียบง่าย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระบบเครือญาติ แม้ว่าในชุมชนบ้านสามขาจะมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันอยู่บ้าง แต่ปัญหาสำคัญประการแรกที่ชาวบ้านประสบอยู่ก็คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เนื่องจากปัญหาการทำเกษตรกรรมที่ปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ต้องซื้อมาจากนอกชุมชน ทำให้เกิดการลงทุนที่สูงขณะที่ราคาผลผลิตที่ขายได้กลับมีราคาไม่แน่นอน ผนวกกับผลผลิตที่นำออกจำหน่ายไม่ได้มีการแปรรูป ทำให้ขายได้ในราคาต่ำ เกิดภาวะการเป็นหนี้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันหลังฤดูทำการเกษตรชาวบ้านในชุมชนกลับไม่มีรายได้จากอาชีพเสริมที่แน่นอน ทำให้ถูกปัญหาหนี้สินรุมเร้าอย่างเรื้อรัง

DSCF0921ประการต่อมา ผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ขาดดุลยภาพก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กระหน่ำซ้ำเติมให้สถานการณ์ปัญหาในบ้านสามขาเลวร้ายลงอีก เมื่อพบว่า การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นในด้านการแข่งขันและส่งเสริมค่านิยมด้านวัตถุ ส่งผลให้คนไทยเกิดการแข่งขันด้านวัตถุนิยมเพิ่มมากขึ้น แม้แต่คนในชุมชนบ้านสามขาเองก็ไม่อาจต้านทานกระแสแห่งวัตถุนิยมที่แพร่ระบาดเข้ามาเอาไว้ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่านี่คือบ่วงรัดให้ชุมชนไม่อาจขยับเขยื้อนตัวได้

อ้ายชาญ อุทธิยะ ชาวบ้านสามขาและผู้มีส่วนผลักดันให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักในการเป็นหนี้ เล่าย้อนถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในชุมชนบ้านสามขาจนเป็นมูลเหตุแห่งการเกิดหนี้สินว่า “เมื่อก่อนชาวบ้านจะอยู่กันตามฐานะ ใครมีเงินเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น บางครั้งผมมีเงินอยู่ 100 บาทก็สามารถอยู่ได้เป็นเดือน อาหารการกินเมื่อก่อนก็จะเป็นพืชผักพื้นบ้าน ใครปลูกอะไรก็กินอันนั้น แทบไม่ต้องซื้อหา แต่ในระยะหลังเมื่อบ้านเมืองพัฒนา มีถนนหนทางเข้าสู่หมู่บ้านวิถีชีวิตของชาวบ้านก็เริ่มเปลี่ยนไป เงินจาก 100 บาทที่สามารถอยู่ได้เป็นเดือนเดี๋ยวนี้วันเดียวก็หมด เมื่อก่อนเราเคยไปไหนมาไหนด้วยการเดิน พอเดี๋ยวสะดวกสบายยิ่งขึ้นมีรถจักรยาน มีรถยนต์ มีทีวี ตู้เย็น เตาแก๊ส สารพัด เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย”

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เข้ามาสร้างความสบายให้กับคนในชุมชน ขณะที่แนวทางในการพัฒนาอาชีพกลับไม่ใครพูดถึง “เมื่อก่อนเรามีรายได้แค่ 40 – 50 บาทก็อยู่ได้ แต่พอมีความสะดวกสบายเข้ามา เราก็ไปหาซื้อมาใช้ รายได้เรามีเท่าเดิมแต่ว่ารายจ่ายเรามีมากขึ้น ดังนั้นชาวบ้านจึงมามองกันว่าจะทำยังไงให้รายได้จาก 40 – 50 บาทให้มันเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาท ซึ่งตรงนี้ไม่เคยมีใครนึกถึง” อ้ายชาญกล่าว

DSCF0920จากปัญหาดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นและกองทุนกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิตรวมถึงการพัฒนาคุณค่าของชาวบ้านให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านเรียนรู้ในการทำงานระบบกลุ่มซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในการทำกิจกรรมร่วมกัน ที่สำคัญยังเป็นการนำเอาศักยภาพของคนหลาย ๆ คนมารวมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ส่งผลให้ชุมชนบ้านสามขาเกิดการรวมกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นถึง 39 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มเป็นการรวมตัวกันตามสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ กลุ่มการจัดการไร่นา กลุ่มชาวนา กลุ่มการศึกษา กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มคนชรา กลุ่มกองทุนพระภิกษุ – สามเณร กลุ่มแก้ไขปัญหายาเสพติด กลุ่มอาชีพเสริม เป็นต้น
นางมาณี จันทร์จอม เจ้าหน้าที่อนามัยประจำตำบล กล่าวถึงการรวมกลุ่มครั้งแรกของชาวบ้านว่า เริ่มแรกชาวบ้านได้มีการจัดเวทีประชาคม พูดคุยเรื่องยาเสพติดก่อน ต่อมาในกลุ่มก็ได้มีการพูดคุยในเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น รายรับ รายจ่ายในหมู่บ้าน ปัญหาเรื่องหนี้สินของคนในชุมชน รวมไปถึงการเสนอทางออกด้วยการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมขึ้น

ทว่าปัญหาเรื่องหนี้สิน ดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากคนในชุมชนมากที่สุดไม่แพ้ปัญหาอื่น ๆ ซึ่งจะต้องเร่งรีบแก้ไขโดยด่วน ทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน นอกเหนือจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้ว การปลูกฝังค่านิยมและความตระหนักให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน ทำชุมชนให้เข้มแข็งโดยมีกระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการทบทวนและค้นหาคำตอบ ดูเหมือนว่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่ชาวบ้านสามขาเข้าไปมีส่วนช่วยคิดช่วยทำ ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

“เมื่อก่อนถ้าพูดถึงงานวิจัย ชาวบ้านเขามองว่าเป็นของสูง มันเหมือนว่าเราไม่มีโอกาส พูดตรง ๆ มันก็ไปเป็นเครื่องมือของเขา เขามาสัมภาษณ์ ให้ข้อมูลแก่เขาไปหมด แต่ผลจากการวิจัยก็ไม่ได้ให้ประโยชน์ใด ๆ กับเราเลย ที่อ้ายนพพรมาชวนทำวิจัย ตอนแรกก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ขอไปปรึกษากับชาวบ้านก่อน เราทำงานกันเป็นทีมถ้าจะทำอะไรก็ต้องพูดคุยกันก่อน ตอนที่อ้ายนพพรมาหาผมก็เลยชวนกันเข้าไปคุยในบ้าน เรียกทีมงานมามี อ้ายชัย อาจารย์โกมล หมอมาณี อาจารย์สันทัด ผู้ใหญ่จำนงค์ มานั่งคุยกัน อ้ายนพพรคุยว่ามันเป็นงานวิจัยของชาวบ้าน ที่วิจัยไปด้วยปฏิบัติไปด้วยจะสำเร็จหรือไม่เรายังไม่ต้องพูดกัน ชาวบ้านบอกว่าถ้าจะทำวิจัยต้องมีเงื่อนไขว่าเรื่องที่จะทนั้นจะต้องเป็นแก่นแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านจริง ๆ ชาวบ้านมีปัญหาอะไรที่อยากจะแก้ไข อยากจะทำ แต่สิ่งที่ชุมชนสนใจมีอยู่ 2 เรื่องคือ ปัญหายาเสพติดกับหนี้สิน สุดท้ายชาวบ้านเลือกปัญหาหนี้สิน” อ้ายชาญ อุทธิยะกล่าว

DSCF0912

ปัญหาเรื่องหนี้สิน ดูเหมือนจะเป็นประเด็นปัญหาที่ชุมชนได้นำเข้าสู่กระบวนการวิจัย เริ่มต้นจาการที่ทีมวิจัยจัดเวทีประชุมชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการวิจัย ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของปัญหาหนี้สิน โดยการวิจัยครั้งนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันของชาวบ้านที่ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน

ถามว่าโครงการวิจัยที่กำลังทำอยู่ตรงกับใจชาวบ้านหรือเปล่า ปรากฏว่าโครงการวิจัยนี้ตรงกับใจของชาวบ้านทุกคน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุน แม้ว่าพวกเขาจะต้องให้ข้อมูลที่ลงลึกในรายละเอียดเพียงใดก็ตาม
กระทั่งในที่สุดโครงการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง” ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยมีนายจำนงค์ จันทร์จอม ผู้ใหญ่บ้านสามขาเป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับชาวบ้านในชุมชน โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค)

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น