รัฐเร่งขับเคลื่อนธุรกิจ Startup ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

333

กระทรวงวิทย์ฯ และกระทรวงไอซีที. ผนึกกำลังครั้งใหญ่ เดินหน้าจุดประกายความรู้ธุรกิจเริ่มต้น จัดงาน”Startup Thailand & Digital Thailand” ในหัวเมืองใหญ่ เริ่มต้นก่อนที่เชียงใหม่ หวังปลุกกระแสสร้างความรู้ความเข้าใจถึงรูปแบบและจุดเด่นเฉพาะ “Startup” และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไปสู่ภูมิภาค ด้าน รองนายกฯ“สมคิด” มั่นใจ “ประเทศไทย 4.0” คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” พร้อมส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่องจังหวัดหนึ่งในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐให้กับประชาชน หรือ “Smart City”

สำหรับกรอบมาตรการส่งเสริม Startup ของรัฐบาล แบ่งเป็น 1.เปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่มีทักษะสูงจากทั่วโลก ในการจัดทำวีซ่าสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Visa) และการพัฒนาศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนักและยกระดับความเป็นผู้ประกอบการในภูมิภาค 2.การปรับระบบกฎหมายและสร้างสภาพแวดล้อมเร่งการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น โดยการปรับกฎหมายธุรกิจเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น (ESOP, Vesting, Convertible debts and Preferred shares) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น 5 ปี และพัฒนาระบบจัดเรตติ้งสำหรับเทคโนโลยี และการค้ำประกันสินเชื่อทางเทคโนโลยี 3.ให้การสนับสนุนการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น โดยการยกเว้นภาษี Capital Gains และ Dividend Taxes สำหรับกิจการร่วมลงทุน (VC) ร่วมพัฒนาระบบ Equity crowdfunding และจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นในช่วงเริ่มแรกกิจการ (Early stages) และ 4. เปิดโอกาสในการสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ โดยการจัดตั้ง NEW Centers เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเปิดของ ASEAN และพัฒนาย่านวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup district) และส่งเสริมศูนย์เร่งการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นทั่วประเทศ

เมื่อระหว่างวันที่5-7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “Startup Thailand & Digital Thailand” และได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Startup Thailand & Digital Thailand กับการสร้างโอกาสในภูมิภาค” โดยภายในงานยังมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ นายฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมด้วย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดด้านหนึ่งของโลกปัจจุบันคือการเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยในการนี้ รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการนำเทคโนโลดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ในวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบต่อแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือเรียกสั้นๆ ว่าแผน Digital Thailand ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ดิจิทัลระยะ 20 ปีของรัฐบาล ที่จะสร้างประเทศไทยให้สร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินการ 6 ด้านได้แก่ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 2. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. การสร้างสังคมดิจิทัล 4. การปรับเปลี่ยนเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล 5.การพัฒนากำลังคนดิจิทัล และ6. การสร้างความเชื่อมั่นด้านดิจิทัล
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Startup Thailand & Digital Thailand กับการสร้างโอกาสในภูมิภาค” ว่า การจัดงาน Startup Thailand 2016 และงาน Digital Thailand 2016 กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงไอซีทีเมื่อช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา มีผู้ร่วมงานทั้งสองงานกว่า 50,000 คน ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความเกี่ยวโยงกันเป็นอย่างสูง ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล
ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า “ประเทศไทย 4.0” เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ในปัจจุบันประเทศไทยยังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” ซึ่งประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนใหม่เป็น “ทำน้อย ได้มาก” ซึ่งทำได้โดยการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติ คือ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และ3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
ประเทศไทย 4.0 จึงถือเป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services และ 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
โดยเน้นการพัฒนาเครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่ (New Engines of Growth) ด้วยการแปลงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ของประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ให้เป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน” โดยการเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) 4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)
ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง “New Startup” ต่างๆ มากมายใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) 2.เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) เทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) สปา 3.เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech) 4.เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) อี–มาร์เก็ตเพลส (E–Marketplace) อี–คอมเมิร์ซ (E–Commerce) 5.เทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing)
นอกจากนี้ “ประเทศไทย 4.0” ยังเป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ำและ Startup ที่อยู่ปลายน้ำ โดยใช้พลัง “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อน ผนึกกำลังของทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้ให้การสนับสนุน ภายใต้หลักปรัชเศรษฐกิจพอเพียงของการ “รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน”
ซึ่งการจัดงาน“Startup Thailand & Digital Thailand” เป็นการรวมงานใหญ่ทั้งสองงานมาจัดร่วมกัน โดยเป็นการผนึกกำลังร่วมกันของสองกระทรวง คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงไอซีที ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย โดยงานนี้จะทำให้คนไทยได้เห็นถึง พลังของประชาคมสตาร์ทอัพที่นำไอเดียผนวกกับเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการเน้นย้าถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนและบ่มเพาะ “นักรบเศรษฐกิจใหม่” (New Economic Warrior: NEW) และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนเป็นการสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมดังกล่าวให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
สำหรับกรอบมาตรการส่งเสริม Startup ของรัฐบาล แบ่งเป็น 1.เปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่มีทักษะสูงจากทั่วโลก ในการจัดทำวีซ่าสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Visa) และการพัฒนาศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนักและยกระดับความเป็นผู้ประกอบการในภูมิภาค 2.การปรับระบบกฎหมายและสร้างสภาพแวดล้อมเร่งการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น โดยการปรับกฎหมายธุรกิจเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น (ESOP, Vesting, Convertible debts and Preferred shares) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น 5 ปี และพัฒนาระบบจัดเรตติ้งสำหรับเทคโนโลยี และการค้ำประกันสินเชื่อทางเทคโนโลยี 3.ให้การสนับสนุนการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น โดยการยกเว้นภาษี Capital Gains และ Dividend Taxes สำหรับกิจการร่วมลงทุน (VC) ร่วมพัฒนาระบบ Equity crowdfunding และจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นในช่วงเริ่มแรกกิจการ (Early stages) และ 4. เปิดโอกาสในการสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ โดยการจัดตั้ง NEW Centers เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเปิดของ ASEAN และพัฒนาย่านวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup district) และส่งเสริมศูนย์เร่งการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นทั่วประเทศ
ทั้งนี้ กลไกสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยงาน Digital Thailand จะช่วยสร้างความตระหนักด้านการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายให้เกิดกิจกรรมที่แสดงศักยภาพของเทคโนโลยีและโอกาสที่มาพร้อมกับโลกยุคดิจิทัล ดังนั้น การจัดงานใน 3 ภูมิภาคครั้งนี้จะทำให้เกิดการขยายผลในวงกว้างทั้งประเทศได้อย่างทั่วถึง เป็นงานที่สร้างการตื่นตัวให้กับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นหลัก ซึ่งเชื่อมโยงกับการส่งเสริม Startup เพื่อเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนไปสู่ Thailand 4.0 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นอกจากนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึง หัวข้อ “เชียงใหม่…เมืองสร้างสรรค์” (Creative Chiang Mai) ว่า “เชียงใหม่…เมืองสร้างสรรค์” จัดตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2553 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรอื่นๆ กลุ่ม และบุคคล ที่เข้าร่วมกันในการพัฒนาและสนับสนุน เมืองเชียงใหม่ ให้เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ความสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยข้อมูลจากเมืองสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า การที่เมืองมีจุดยืนที่แน่นนอน และเน้นการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ส่งผลให้เมืองนั้นๆ ประสบความสำเร็จและกลายเป็นเมืองที่มีความน่าสนใจ ซึ่งการทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์นี้ เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นโดยดึงศักยภาพที่เป็นจุดแข็งและมีเอกลักษณ์โดดเด่นของเชียงใหม่ที่น่าสนใจมากมายและการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของอุตสาหกรรมทั้งในด้านหัตถกรรม บริการ การออกแบบ และซอฟแวร์/ดิจิทัลคอนเทนต์ นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์ในสาขาอื่นๆ ก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไม่แพ้กันเช่น เกษตรกรรม การแปรรูปอาหาร ความอยู่ดีกินดี และการท่องเที่ยว
โดยมุ่งเน้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เน้นการคิดแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าการให้ความสำคัญไปที่อุตสาหกรรมใดด้านเดียว โดยดำเนินงานบนรากฐานของการสร้าง “อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิจิทัล ไอที ซอฟต์แวร์ และการออกแบบการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น งานหัตถกรรมและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดความคิดอย่างสร้างสรรค์ในด้านการศึกษา และการพัฒนาเมืองอีกด้วย เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ สามารถเป็นได้ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม วัฒนธรรม ธุรกิจ และศิลปะ ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันยิ่งเสริมสร้างพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงใหม่ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ซึ่งขอบเขตของเมืองสร้างสรรค์ ยังเพิ่มเติมมุมมองส่วนหนึ่งไปยังระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ เศรษฐกิจของเมือง และการพัฒนาเมืองบนพื้นฐานแห่งความสร้างสรรค์ เนื่องจากความคิดอย่างสร้างสรรค์จะสามารถช่วยให้การพัฒนาเมืองง่ายยิ่งขึ้น นอกเหนือจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมที่โดดเด่นของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ถูกยอมรับและกล่าวขานในนานาต่างประเทศแล้ว “นวัตกรรม”ยังเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เช่น แฮนด์เมดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมรูปแบบอื่นๆ มาใช้ในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เช่น งานหัตถกรรมและการท่องเที่ยว อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องมีการออกแบบที่ดี อีกทั้งยังต้องมีความรู้ในด้านวัสดุและทักษะทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมอีกด้วย
ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “Crafting Northern Region Startup DNA” ว่า สตาร์ทอัพ (Startup) หรือ “วิสาหกิจเริ่มต้น” คือ ธุรกิจเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งมีนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ (Business model innovation) ที่สามารถทำซ้ำ (Repeatable) และขยายตลาด (Scalable) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential growth) โดยคุณลักษณะสำคัญของการเป็น Startup จะต้องเป็นผู้มีความทะเยอทะยาน (Ambition) ในการแก้ไขปัญหาสำคัญ คิดค้นนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ ที่สามารถขยายธุรกิจไปทำซ้ำในตลาดอื่นได้ มีโอกาสเติบโตสูง มีตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต และสามารถการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจเทคโนโลยี แต่การขยายตลาดของ Startup ส่วนใหญ่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี
ซึ่งงาน Startup Thailand ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับพันธมิตรจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Unite to Rise” หรือ “รวมพลังสตาร์ทอัพ…เพื่อก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทย” ถือว่าประสบความสำเร็จเกิดความคาดหมาย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการสนับสนุน Startup ให้เกิดการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการระดมผู้ประกอบการ Startup และนักลงทุนให้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งแล้ว ยังเป็นการสร้างความตื่นตัว เสริมสร้างความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจ Startup ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา อาชีวะ ผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน เกษตรกรยุคใหม่ ผู้บริหารองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็น “ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมศูนย์กลางของอาเซียน” กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ขยายการจัดงานดังกล่าวมาสู่พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือ เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยมี Startup ทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 500 ราย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ 80% เชียงใหม่ 10% และภูเก็ต 5% ตามลำดับ ซึ่งในภาคเหนือมีกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจหลากหลายด้าน เช่น ธุรกิจความงามและสุขภาพ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงไอทีและดิจิทัลคอนเทนส์
ซึ่งในขณะนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดทำโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ภาคเหนือ (Northern Innovative Startup: NIS) เพื่อสร้าง Startup ที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจสูง แต่ยังขาดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งภาคเหนือของประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มี Startup รุ่นใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดย NIS จะช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพในการสร้าง Startup ในพื้นที่ภาคเหนือที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือ เป็นกลุ่มเมืองที่มีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกลุ่มธุรกิจที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจทางการแพทย์ เวชสำอาง และธุรกิจด้านเทคโนโลยี
ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมุ่งเน้นสร้าง Startup ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของภาคเหนือ ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี
2. กลุ่มธุรกิจการแพทย์ และเวชสำอางค์ 3. กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในส่วนสภาหอการค้าฯ ได้มี “เครือข่ายทายาทนักธุรกิจรุ่นใหม่” (Young Entrepreneur Council: YEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่สืบทอดธุรกิจ หรืออยากเริ่มต้นธุรกิจ Startup ของตนเอง เป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มีศักยภาพและต้องการพัฒนาทักษะและความสามารถในการบริหารงาน จึงเป็นเครือข่ายสำคัญที่สามารถเร่งสร้างให้เกิด Startup DNA รุ่นใหม่ ที่สนใจพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ และเกิดการพัฒนา Startup รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ กระจายในท้องถิ่นต่างๆ ของพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในท้องถิ่น ระดับจังหวัด รวมถึงระดับภูมิภาคและตลอดจนรองรับการขยายตลาดธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และยังถือว่า เป็นการพัฒนากระบวนการเริ่มขับเคลื่อนธุรกิจสายใหม่ๆที่เป็นนวัตกรรมให้กับประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ว่า “ไทยต้องผลิตนักรบเศรษฐกิจ ขึ้นมาให้มากที่สุดที่จะทำได้ ”
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีแผนจัดกิจกรรมและรูปแบบสนับสนุนสำหรับ Startup ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อเร่งการสร้างธุรกิจนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยการเฟ้นหาผู้ประกอบการนวัตกรรมใหม่ (Startup Program) การพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรม(Coaching Program) การทดสอบความเป็นไปได้ด้านเทคโนโลยีและโมเดล (Prototyping, Market Validation, and Business Modeling Program ตลอดจนสนับสนุนเงินลงทุนเบื้องต้น (Pitching for Seed Funds) ประกอบด้วย
1.กิจกรรมการค้นหาและสร้าง Startup เช่น หลักสูตรการสร้างธุรกิจ Startup ใน 8 สัปดาห์ “8 Weeks Coaching for Startup” นอกจากนี้ การที่ Startup จะสามารถอยู่รอดในระยะยาวมักขึ้นอยู่กับการได้รับเงินลงทุนจากกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) หรือนักลงทุนอิสระ (Angel investor) ที่เพียงพอ เนื่องจาก Startup ส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ อีกทั้ง Startup เป็นธุรกิจที่ต้องเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การระดมทุนจาก VC หรือ Angel Investor ที่มาพร้อมกับการให้คำปรึกษา (Mentor) จึงเป็นอีกแนวทางในการช่วยให้ Startup สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
2.”NIS’s Fund” มาตรการสนับสนุนเงินอุดหนุนการตั้งต้นธุรกิจ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จะให้การสนับสนุนในลักษณะของเงินให้เปล่า ในรูปแบบกลไกของเงินอุดหนุน วงเงินไม่เกิน 90% และไม่เกิน 600,000 บาทต่อรายต่อโครงการ ซึ่งคาดว่าผลกระทบจากมาตรการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวในระยะเวลา 4 ปี จะก่อให้เกิด Startup ที่มีศักยภาพสูงขึ้นในภาคเหนือที่มีมูลค่าธุรกิจเบื้องต้นเฉลี่ยอย่างน้อย 5 ล้านบาท อย่างน้อย 240 ราย คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท
ขณะที่ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า การจัดงาน “Startup Thailand & Digital Thailand” โดยร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สะท้อนให้เห็นถึงพลังประชารัฐที่เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน อีกทั้ง ยังเป็นการขยายผลการจัดงาน Digital Thailand 2016 เมื่อวันที่ 26-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับพันธมิตร ได้จัดงานขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความตระหนักในด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่แสดงศักยภาพของเทคโนโลยีและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากับโลกยุคดิจิทัล ส่งเสริมการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านนิทรรศการ สัมมนาวิชาการ และกิจกรรมสาระบันเทิง ตลอดจนการสร้างเครือข่ายการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขยายผลความสำเร็จของงาน Digital Thailand ที่ผ่านมาไปในวงกว้างทั่วประเทศ กระทรวงฯ จึงได้กำหนดจัดงาน Digital Thailand ภูมิภาค ขึ้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต
ดร.อุตตม กล่าวต่อว่า เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น กระทรวงฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี ผ่านแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าแผนดิจิทัลไทยแลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ อันหมายถึง ประเทศไทยที่สามารถสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน อันเป็นที่มาของการจัดงานในวันนี้ และประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลใน 6 ด้าน กล่าวคือ 1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4. ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล 5. พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ 6. สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ภายใต้การดำเนินงานขับเคลื่อนแผนดิจิทัลไทยแลนด์ ของกระทรวงฯ ยังได้ส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่องจังหวัดหนึ่งในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และสามารถสร้างความรู้ และตระหนักถึงศักยภาพและโอกาสของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านดิจิทัลในภูมิภาค กล่าวคือเป็นการสร้างให้เกิด Smart City และส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์ดิจิทัลตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ขอ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี วัตถุประสงค์หนึ่งของการได้มาจัดงาน Digital Thailand ภูมิภาค 2016 จึงเป็นการช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานของภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำในท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือได้มีความเข้าใจในนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอีกด้วย
ส่วนทางด้านนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการ Chiang mai Smart City จะดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เน้นให้ประชาชนกินดี อยู่ดี มีสุข สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความปลอดภัยและความสงบสุขของประชาชน รวมถึงการสร้างสังคมแห่งวัฒนธรรม และดำรงความเป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ส่วน “เชียงใหม่…เมืองสร้างสรรค์” ได้จัดตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อปี 2553 โดยการร่วมกันขอทุกภาคส่วนในการพัฒนาและสนับสนุน เมืองเชียงใหม่ ให้เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ความสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยการดึงศักยภาพที่เป็นจุดแข็งและมีเอกลักษณ์โดดเด่นของเชียงใหม่ที่น่าสนใจมากมายและการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของอุตสาหกรรมทั้งในด้านหัตถกรรม บริการ การออกแบบ และซอฟแวร์/ดิจิทัลคอนเทนต์ นอกจากนี้ความคิดสร้างสรรค์ในสาขาอื่นๆ ก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไม่แพ้กันเช่น เกษตรกรรม การแปรรูปอาหาร ความอยู่ดีกินดี และการท่องเที่ยว โดยดำเนินงานบนรากฐานของการสร้าง “อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิจิทัล ไอที ซอฟต์แวร์ และการออกแบบการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น งานหัตถกรรมและการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดความคิดอย่างสร้างสรรค์ในด้านการศึกษา และการพัฒนาเมืองอีกด้วย เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ สามารถเป็นได้ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม วัฒนธรรม ธุรกิจ และศิลปะ ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันยิ่งเสริมสร้างพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงใหม่ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น