บุกตองยีเชื่อมการค้า ไทย-รัฐฉานขยายตัว

b.2กระทรวงพาณิชย์นัดบุกตลาดรัฐฉานครั้งใหญ่ เตรียมนำเถ้าแก่ไทยขนสินค้าร่วมงานแสดงสินค้ากลางเมืองตองยีปลายเดือนนี้กว่า 100 ราย ขณะที่ภาคเอกชนชงรัฐบาลไทยต่อยอดหนุนเงินทุนพัฒนาถนนสายเชียงตุง-ตองยี เชื่อทำการค้าไทย-รัฐฉานโตจากปีละ 1.4 หมื่นล้านอีกมหาศาลแน่

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา สาขาเชียงราย เปิดเผยว่า กองความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีโครงการขยายตลาดการค้าชายแดนไทยในรัฐฉานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือพม่า ครั้งใหญ่ โดยจะนำผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปกระชับความสัมพันธไมตรี หารือแนวทางพัฒนาการค้ากับผู้บริหารรัฐฉาน รวมทั้งนำผลิตภัณฑ์สินค้าไทย กว่า 120-150 ราย ร่วมงานแสดงสินค้า ณ National State Stadium เมืองตองยี เมืองเอกของรัฐฉาน ระหว่าง 26-30 ส.ค.นี้ โครงการนี้และถือว่าเป็นความร่วมมือไทย-รัฐฉานครั้งนี้เป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลังพม่าเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศ โดยทางหอการค้าฯ-สมาคมวัฒนธรรมฯ และหน่วยประสานงานชายแดนไทย-พม่า ตลอดจนทางกระทรวงการวางแผนเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของรัฐฉาน หอการค้าตองจีน หอการค้าเชียงตุง และหอการค้าท่าขี้เหล็ก ร่วมสนับสนุนเป็นอย่างดี

น.ส.ผกายมาศกล่าวอีกว่า รัฐฉานถือว่ามีความสำคัญต่อการค้าชายแดนระหว่างไทย-พม่ามาก ที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้ากว่า 14,000 ล้านบาท/ปี แต่อาจจะลดลงบ้างในปี 2558 เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในเมียนมา และมีการเข้มงวดสินค้าในบางช่วง

“ที่จริงสินค้าไทยในตลาดพม่าได้รับความนิยมมาก แต่ที่ผ่านมาการส่งสินค้าเข้ารัฐฉานยังมีปัญหา ส่วนใหญ่จะส่งไปยังท่าขี้เหล็ก-เชียงตุงเป็นหลัก เพราะเส้นทางคมนาคมยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะถนนสายเชียงตุง-ตองยี ระยะทางราว 300 กว่า กม.ที่ยังไม่สะดวกมากนัก หากมีการพัฒนาเส้นทางสายนี้เชื่อว่าจะทำให้การค้าชายแดนไทย-พม่าเติบโตขึ้นอีกมหาศาลแน่”

ทั้งนี้ จากการร่วมสำรวจเส้นทางกับคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหารือกับทางรัฐฉานแล้ว ทราบว่าหากจะพัฒนาเส้นทางสายเชียงตุง-ตองยีจะต้องใช้งบประมาณราว 200 ล้านบาท ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้สะดวกต่อทั้งการค้าและการท่องเที่ยวอย่างมาก

“เคยเสนอไปยังหลายหน่วยงานให้สนับสนุนการปรับปรุงถนนสายนี้ เช่น ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำหรืออื่นๆ ตามความเหมาะสม ฯลฯ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถขยายเข้าไปในรัฐฉานได้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของไทยสู่รัฐฉานได้อีกมากแน่”

น.ส.ผกายมาศ กล่าวอีกว่า หากเส้นทางคมนาคมสายเชียงตุง-ตองยี ได้รับการพัฒนาจะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสแข่งขันกับสินค้าจีนที่ทะลักลงมาทางด่านมูเซย์ ชายแดนพม่า-จีนปีละมูลค่ามหาศาล เพราะที่ผ่านมาพ่อค้าไทยต้องขนส่งสินค้ากันหลายต่อ และต้องใช้ระบบตัวแทนหรือโบรกเกอร์ ทำให้โอกาสในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนลดลงด้วย

สำหรับสถิติการค้าผ่านด่านศุลกากรแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก พบว่าในปี 2558 ที่ผ่านมาการค้าระหว่างด่านศุลกากรแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย กับเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน มีมูลค่าการค้ารวม 9,906,532,433.74 บาท แบ่งเป็นการนำเข้า 180,180,040.63 บาท และส่งออก 9,726,393.11 ล้านบาท และปี 2559 จนถึงเดือน พ.ค.นี้ พบว่ามีมูลค่าการค้ารวมเฉลี่ยเดือนละประมาณ 700-900 ล้านบาท โดยมีการนำเข้าเฉลี่ยเดือนละประมาณ 6-31 ล้านบาท และส่งออกเฉลี่ยเดือนละประมาณ 700-900 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร ฯลฯ

ขณะที่สถิติการเข้าออกชายแดนในปี 2557 ที่ผ่านมาพบว่ามีคนไทยทำเอกสารผ่านแดนชั่วคราว เดินทางออกไปยังท่าขี้เหล็ก 7,295,642 คน และเดินทางเข้ามา 7,447,777 คน ส่วนคนพม่าทำบอเดอร์พาสเข้ามา 3,216,512 คน และเดินทางกลับไปพม่า 3,216,638 คน นอกจากนี้ยังมีการทำหนังสือเดินทางระหว่างประเทศเดินทางเข้าออก แบ่งเป็นคนไทย 4,312 คน และเข้ามาจำนวน 4,162 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาจำนวน 371,741 คน และออกไปจำนวน 381,725 คน รวมบุคคลที่เข้าสู่ประเทศไทยทุกประเภทจำนวน 11.006,091 คน และออกไปจำนวน 10,712,116 คน

อนึ่ง การเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับรัฐฉานที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางผ่าน อ.แม่สาย ข้ามสะพานลำน้ำสายไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก โดยมีถนนอาร์สามบี (ไทย-พม่า-จีนตอนใต้)

ร่วมแสดงความคิดเห็น