นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสาเหตุของ โรคไหม้ ว่าเกิดจากเชื้อรา Pyricularia oryzae cav ซึ่งสามารถทําลายข้าวได้ทุกระยะตั้งแต่เริ่มปลูก จนถึงเก็บเกี่ยว โรคไหม้จะเกิดขึ้นและแพร่ระบาดได้อย่างรุนแรง ถ้ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ ใช้พันธุ์ข้าวอ่อนแอต่อโรค เช่น มะลิ 105 กข6 เหนียวอุบล เหนียวสันป่าตอง และ กข 23 สภาพอากาศมีความชื้นค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 80% ขึ้นไป โดยเฉพาะในช่วงบ่ายถึงเช้าวันรุ่งขึ้น อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคคือ ระหว่าง 22-28 องศาเซลเซียส หากเกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์อัตราสูง เช่น 20-30 กิโลกรัม/ไร่ หรือใส่ปุ่ยอัตราสูง 60-80 กิโลกรัม/ต่อไร่ ก็เป็นการชักนำให้เกิด โรคไหม้ได้เช่นกัน
ลักษณะอาการ
ระยะกล้า ที่ใบมีแผลจุดสีนํ้าตาลลักษณะคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผลมีขนาดแตกต่างกันไปความกว้างระหว่าง 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 15-20 มิลลิเมตร จุดแผลนี้สามารถขยายลุกลามจนแผลรวมกันทั่วบริเวณใบ ในกรณีที่โรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งและยุบตายอาการคล้ายถูกไฟไหม้ (blast)
ระยะแตกกอ อาการของโรคพบได้ที่ใบ กาบใบ ข้อต่อของใบและข้อต่อของลําต้น ขนาดของแผลจะ ใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้าแผลลุกลามติดต่อกันได้ ที่บริเวณข้อต่อใบจะมีลักษณะแผลชํ้าสีนํ้าตาลดําและ ใบมักหลุดจากกาบใบเสมอ
ระยะคอรวง ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวงเมื่อถูกเชื้อรานี้เข้าทําลายเมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเชื้อราเข้าทําลายตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยวคอรวงจะปรากฎรอยแผลชํ้าสีนํ้าตาล ทําให้เปราะหักพับง่ายทำให้รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายจำนวนมาก
ในปัจจุบันในแหล่งที่มีการทํานามากกว่าปีละครั้งจะพบโรคนี้แพร่ระบาดเป็นประจํา โดยเฉพาะใน แหล่งที่ปลูกข้าว
หนาแน่นอับลม ใส่ปุ๋ยมากเกินไป และมีสภาพแห้งแล้งในตอนกลางวัน ชื้นจัดในตอนกลางคืน ถ้าต้นข้าวอยู่ในระยะเจริญเติบโตและสภาพอากาศมีลมพัดแรงและหนาวจัดเป็นเวลาติดต่อกัน หลายวันจะทําให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโตใบจะม้วนและเหลืองต้นแคระแกร็น หากข้าวอยู่ในระยะตั้งท้องจะผสมไม่ติดทําให้เมล็ดลีบ
การป้องกันกําจัด
1) ปลูกพันธุ์ข้าวต้านทานต่อโรค เช่น กข.7 กข.13 ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก60-2 หางยี 71 และเหมยนอง
2) อย่างปลูกข้าวหนาแน่นมากเกินไป และอย่าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือยูเรีย (46-0-0) มากเกินไป
3) ในแหล่งที่เคยมีการระบาดควรคลุกหรือแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยสารชีวภัณฑ์เชื้อไตรโคเดอร์มา หรือคลุกสารเคมีก่อนปลูก เช่น คาร์เบนดาซิม คาซูก้าไมซิน ไตรไซคาร์โซล คาร์เบนดาซิม + แมนโคเซ็บ โดยคลุกเมล็ดพันธุืข้าวด้วยสารเคมีก่อนปลูกในอัตราส่วน สารเคมีประมาณ 20-30 กรัมต่อข้าว 1 ถัง (10 กิโลกรัม) คลุกแล้วเก็บไว้นาน 2-3 สัปดาห์จึงนําไปปลูกหรือ -แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยสารเคมีก่อนปลูกในอัตราส่วนสารเคมี 10-15 กรัมต่อนํ้า 5 ลิตร โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง จึงนําไปปลูก
4) เกษตรกรควรตรวจแปลงปลูกบ่อยๆ และควรฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์เชื้อไตรโคเดอร์มาในการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค แต่เมื่อพบโรคระบาดรุนแรงเกินค่าระดับเศรษฐกิจควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีกําจัดเชื้อรา เช่น ไตรโซคาร์โซล คารืเบนดาซิมบีโนมิล+ไธแรมไตรโฟรีนไอบีพี
หมายเหตุ การใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืชทุกชนิดควรระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ได้หากปฏิบัติไม่ถูกต้อง
เกษตรกรต้องทำตามคําแนะนําในการใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง และปลอดภัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ สํานักงานเกษตรอําเภอ สํานักงานเกษตรจังหวัด สํานักงานส่งเสริมการเกษตรเขต ตามภูมิภาคในท้องที่ของท่านได้ทุกแห่ง หรือที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เรียบเรียงโดย : ว่าที่ร.ต.อโนทัย เกื้อปัญญา
นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ
กลุ่มอารักขาพืช
ร่วมแสดงความคิดเห็น