ข่วงเกษตร…การดูแลกล้วยไม้ในฤดูฝน (1)

B8

เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน กล้วยไม้ที่ผ่านการออกดอกและพักตัวในฤดูร้อนมาแล้ว จะเริ่มฟื้นตัว เจริญเติบโตแทงยอดใหม่ ส่วนกล้วยไม้ที่ชะงักการให้ดอกไปในช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดก็จะเริ่มแทงช่อดอก กล้วยไม้จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งในช่วงฤดูฝนนี้ดูเหมือนว่ากล้วยไม้จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและแข็งแรงดี แต่เมื่อมองให้ดี จะมีปัญหาอุปสรรค์มากมายเกี่ยวกับโรคพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน่าอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เปียกชื้น เป็นระยะเวลายาวนานตลอดจนความร้อนอบอ้าวของสภาพโรงเรือนที่เลี้ยงจะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมาดูแลเอาใจใส่ให้มากกว่าปกติและหาทางป้องกันไว้ก่อนที่สายเกินไปเพื่อให้กล้วยไม้มีสภาพที่สมบรูณ์แข็งแรงสามารผ่านฤดูฝนไปได้ ซึ่งสิ่งที่ต้องระมัดระวังมีดังนี้ การให้น้ำ การที่กล้วยไม้อยู่ในสภาพที่เปียกชื้นเป็นเวลานานๆ โดยไม่ค่อยมีโอกาสแห้งตลอดจนสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าว อับลม การระบายอากาศไม่ดี จะทำให้เชื้อโรคระบาดได้รวดเร็ว อีกทั้งหากมีการให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากขึ้นยิ่งจะทำให้เกิดโรคเน่ามากขึ้นตามไปด้วย ควรมีการควบคุมการให้น้ำให้ดีในฤดูฝน ถึงแม้ว่ากล้วยไม้จะชอบความชื้นแต่ไม่ชอบสภาพที่เปียกแฉะเป็นเวลานาน ซึ่งในการควบคุมการให้น้ำที่เหมาะสมนั้นจะต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควรที่จะทำให้ทราบว่ากล้วยไม้ของเรานั้นได้รับน้ำพอดีหรือยัง แต่โดยทั่วไปหากฝนตกมากจนถึงขั้นเปียกแล้วเราจะงดการให้น้ำไปก่อนประมาณอย่างน้อย 1 วัน แต่หากตกมากเป็นเวลานานก็อาจเลื่อนการให้น้ำออกไปให้ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของกล้วยไม้ว่าจะชอบน้ำเพียงใดและความสามารถในการอุ้มน้ำของวัสดุปลูกแต่ละชนิดซึ่งวัสดุปลูกแต่ละอย่างสามารถเก็บความชื้นต่างกัน ซึ่งหากเป็นกล้วยไม้รากอากาศปกติจะรดน้ำเช้า – เย็น หากเป็นกล้วยไม้ที่มีเครื่องปลูกจะรดน้ำเพียงครั้งเดียว แต่หากเครื่องปลูกยังมีความชื้นอยู่ก็ยังไม้ต้องรดน้ำ เพราะสภาพที่ฝนตกชุกจะเอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคเน่ามาก ดังนั้นเมื่อฝนหยุดตกจึงควรปล่อยให้กล้วยไม้มีโอกาสแห้งบ้าง ซึ่งในสภาวะที่แห้งในขณะนั้นย่อมจะดีกว่าสภาพที่เปียกกว่า

สำหรับกล้วยไม้ที่ต้องการการดูแลและเน่าง่ายมากกว่าปกติเช่น ฟาแลนนอปซิส หรือรองเท้านารี กล้วยไม้ที่ติดอกพร้อมส่งจำหน่ายหรือส่งเข้าประกวด ตลอดจนลูกไม้ที่พึ่งออกจากขวดยังต้องดูแลอนุบาลอย่างดี ซึ่งจะช้ำฝนได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องมีหลังคากันฝน แต่ต้องเป็นหลังคาที่สามารถให้แสงผ่านได้ในปริมาณที่พอเหมาะ(พรางแสง) โดยทั่วไปมักใช้พลาสติกใสร่วมกับตาข่ายพรางแสง สำหรับกล้วยไม้ที่ออกขวดใหม่ๆโดยเฉพาะ 2 – 3 สัปดาห์แรกจะมีรากที่อ่อนแอหากถูกฝนมากจะทำให้เน่าได้ง่ายมากจึงควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ นอกจากนั้นกล้วยไม้ที่ออกดอกเตรียมส่งจำหน่ายหากถูกฝนมากๆ สลับกับโดนแดดแล้วร้อนจะเกิดดอกเน่าได้เช่นกัน นอกจากนั้นกล้วยไม้ที่มีช่อยาวๆใหญ่ๆที่อยู่ในโรงเรือนที่โดนฝนควรใช้ฟิวส์หรือสายโทรศัพท์ผูกยึด ก้านช่อดอกไว้ เพราะช่อดอกที่ถูกฝนจะมีน้ำหนักมากจะทำให้ช่อดอกลู่ต่ำและหักได้ (โปรดติดตามตอนต่อไป)

นายใจศิลป์ ก้อนใจ
นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยสาธิต
และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น