ม.พายัพปลูกข้าววันแม่เกี่ยววันพ่อ เทิดพระเกียรติแม่-พ่อของแผ่นดิน

7 49
เมื่อวันที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยพายัพ จัดกิจกรรม “ปลูกข้าววันแม่ เกี่ยววันพ่อ” ณ พื้นที่ดำเนินงานเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือกของมหาวิทยาลัยพายัพ เขตแม่คาว ซึ่งอาจารย์ ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิยกร่างแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ได้กล่าวว่าเป็นแปลงนาเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมจิตสำนึกของบุคลากร นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาน้องใหม่ทุกคนของมหาวิทยาลัยพายัพ สามารถน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดคุณประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และสามารถใช้แนวทางด้านเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือก เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการมีสุขภาวะที่สมบูรณ์แห่งชีวิต และยังประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยผลิตผลที่ได้รับจากพื้นที่ปลูกข้าว 32 ไร่ ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยพายัพจะนำไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559
และในปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือกอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันและให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งโครงการเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือกเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อันเกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
มหาวิทยาลัยพายัพ จึงเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยพายัพให้เหมาะสม โดยใช้แนวทางด้านเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือก รวมทั้งเป็นโอกาสในการพัฒนาให้โครงการเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือกนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักศึกษา บุคลากร ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศของมหาวิทยาลัยพายัพ และบุคคลทั่วไป อีกด้วย
ผศ.ดร.สมพันธ์ วงษ์ดี อธิการบดี มหาวิทยาลัยพายัพ เผยว่า โครงการเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือกของมหาวิทยาลัยพายัพ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ต้นปี 2558 ด้วยพื้นที่ 32 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว และเลี้ยงปลา สำหรับข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์หอมมะลิ 105 และสีให้เป็นข้าวกล้อง ถือเป็นข้าวแห่งพระพรที่บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพายัพได้ร่วมกันปลูกบนพื้นที่แห่งเรียนรู้ ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การหว่านเมล็ดข้าว การดูแลเอาใจใส่จนสามารถเก็บเกี่ยวเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ
ด้านอาจารย์เมตตา พรวรรณะศิริเวช ผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป เผยว่า ในภาคการศึกษาที่ 1/2559 สำนักศึกษาทั่วไป ได้จัดโครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือก และนำนักศึกษาเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือกของมหาวิทยาลัยพายัพ ในการทำกิจกรรมปลูกข้าว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 17 สิงหาคม 2559 เพื่อเป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาตระหนักและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ
นายณภัทร พันวงศ์ หนึ่งในนักศึกษา ผู้เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือก เผยถึงความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปลูกข้าววันแม่ เกี่ยววันพ่อ ว่า “เป็นการปลูกข้าวครั้งแรกในชีวิตของผมครับ รู้สึกสนุกและภูมิใจที่มหาวิทยาลัยพายัพ มีโครงการที่ดีๆ แบบนี้ นอกจากความรู้ที่ได้รับจากห้องเรียนแล้ว ยังมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้ทำด้วยครับ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น