วัยหมดประจำเดือน เสี่ยง”โรคเกาต์”

1
“โรคเกาต์” เป็นโรคข้ออักเสบ ซึ่งเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของร่างกาย ที่มีกรดยูริคในเลือดสูงมากอันเนื่องมาจากการกิน และไม่ค่อยออกกำลังกาย ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ชายในวัยประมาณ 40 ปี ในผู้หญิงมักจะพบในวัยหมดประจำเดือนแล้ว

สาเหตุของโรค เกิดจากกระบวนการใช้ และขับถ่ายสารพวกพิวรีนของร่างกายผิดปกติไป พิวรีนเป็นธาตุอาหารที่พบได้ในเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี เครื่องในสัตว์ เป็นต้น ซึ่งจะถูกย่อยจนกลายเป็นกรดยูริก โดยที่ร่างกายจะกำจัดพิวรีนออกทางไต (ปัสสาวะ) ทางลำไส้(อุจจาระ) แต่เมื่อร่างกายเกิดกรดยูริกมากเกินไปหรือไม่สามารถสลายกรดยูริคออกได้ ก็จะทำให้เกิดตะกอนในที่สุด สาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจาก กรรมพันธุ์ ความอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์ หรือจากการใช้ยาบางชนิด รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง

อาการของโรค มีอาการปวด บวม แดง ร้อนตามข้อ และเจ็บ อาจรุนแรงจนถึงกับเดินไม่ได้ก็มี อาการเหล่านี้อาจจะเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นได้กับทุกข้อต่อในร่างกาย แต่พบว่าข้อที่อักเสบได้บ่อย ได้แก่ ข้อหัวแม่มือ ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งเมื่อเจาะเลือดดูระดับกรดยูริกในร่างกายพบว่า ในผู้ชายมีค่ามากกว่า 7.0 มก./ดล.และในผู้หญิงมีค่ามากกว่า 6.0 มก./ดล.

กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ 1.เพศชาย อายุช่วงประมาณ 30-40 ปี หรือเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน 2.ผู้ที่มีโรคร่วมซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในโลหิตสูง 3.ผู้ที่ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ 4.ผู้ที่รับประทานอาหารเนื้อสัตว์และอาหารทะเลปริมาณมากเป็นประจำ 5.ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาขับปัสสาวะ 6.ผู้ที่มีภาวะไตทำงานบกพร่อง เป็นสาเหตุให้มีการคั่งของกรดยูริกในเลือด

การรักษาในระยะแรกที่มีอาการเฉียบพลัน คือปวด บวมแดง ร้อน จะใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการ ดูแลตัวเองและป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการซ้ำอีกโดยการงดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารที่มีพิวรีนให้น้อยลง การดื่มน้ำเยอะๆสามารถช่วยขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะได้ หรือการดื่มนมสดก็ช่วยลดกรดยูริกได้เหมือนกัน แต่ถ้ากินยาแก้ปวดและดูแลตัวเองแล้ว ยังมีอาการกำเริบบ่อยกว่า 2-3 ครั้ง จะต้องใช้ยาลดกรดยูริก

โรคเกาต์สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยาเพื่อควบคุมระดับกรดยูริกไม่ให้สูง แต่ผู้ป่วยต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี เป็นอย่างน้อย และปรับพฤติกรรมการกิน แต่ถ้าหายขาดแล้ว แต่ยังมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเหมือนเดิมก็จะกลับไปเป็นอีก

การปฏิบัติตัวไม่ให้โรคเกาต์กำเริบ

1.รับประทานยาตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติ หรือมีผลข้างเคียงจากการรับประทานยาควรรีบปรึกษาแพทย์

2.ไม่ควรหยุดยา ปรับขนาดยา หรือซื้อยารับประทานเอง เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการแพ้ยาแล้ว ทำให้ควบคุมโรคได้ไม่ดี โรคอาจกำเริบได้

3.ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด แพทย์จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อดูระดับกรดยูริก การทำงานของตับและไตเป็นระยะๆ รวมทั้งอาจต้องปรับเปลี่ยนยา หรือขนาดของยาตามความเหมาะสม

4.ในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยเรื่องอื่นหรือไปพบแพทย์ ควรนำยาที่รับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง

5.รับประทานอาหารให้ถูกส่วน ครบหมู่ และเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่นเครื่องในสัตว์ ชะอม กระถิน เนื้อไก่ เป็นต้น

6.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์

7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการกระแทกต่อข้อที่รุนแรง

8.หลีกเลี่ยงการบีบ นวด ถู บริเวณข้อ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบได้

โรคเกาต์เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาที่ไม่ถูกทางจะทำให้โรคเข้าสู่ระยะที่มี ปุ๋ม ก้อน ข้อ และกระดูกถูกทำลาย รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบไต หัวใจ ดังนั้น การตั้งใจให้ความร่วมมือในการรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันภาวะเหล่านี้ได้ รวมทั้งไม่มีอาการข้ออักเสบกำเริบอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

…..ร.พ.แมคคอร์มิค / ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น